นายกฯเผยมวลน้ำหนือก้อนใหญ่เข้าใกล้กทม.ให้ปชช.ใช้ช่วงวันหยุดเตรียมตัว

ข่าวทั่วไป Saturday October 22, 2011 09:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ"รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน" ว่า วันนี้น้ำต่างๆเริ่มเข้ามาใกล้กรุงเทพฯแล้ว ซึ่งเป็นหัวใจและการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำจึงต้องมาร่วมกันรักษาพื้นที่สำคัญๆ เช่น เมืองหลวง สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เขตพระราชฐานทุกแห่ง โรงพยาบาลหลักๆ สถานที่ราชการต่างๆ

นอกจากนั้น การรักษาพื้นที่เศรษฐกิจ เช่น เส้นทางสาธารณูปโภค เส้นทางรถไฟ เส้นทางขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง สถานีรถไฟฟ้า สถานีขนส่ง สะพานต่างๆ ทางด่วน ต้องให้สามารถขึ้นลงได้ การจราจรต้องไม่เป็นอัมพาต โรงผลิตน้ำประปา ไฟฟ้าก็ต้องรักษาไว้

"พี่น้องประชาชนคะ วันนี้สถานการณ์น้ำต่างๆ ยังมีมวลน้ำก้อนใหญ่ที่ไหลมาจากทางเหนือ เริ่มใหลมาสู่กรุงเทพมหานคร วันนี้เราคงต้องมาคุยว่าจะทำอย่างไรให้เร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด แต่เรื่องธรรมชาติของน้ำการที่ไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ หากปิดกั้น ก็จะทำให้ระดับความรุนแรงมากขึ้น จะทำให้มีผลเหมือนที่พี่น้องประสบปัญหามา น้ำไหลเข้าจนทำให้แนวพนังกั้นน้ำนั้นพังลง การใช้ถุงทรายเป็นเพียงการชะลอน้ำ ไม่ใช่การกั้นน้ำอย่างถาวร และอาจจะเป็นสาเหตุให้คันกั้นน้ำทลายลง เพราะเมื่อปริมาณน้ำที่ไหลเข้ามามีฝนตกหรือมาแรงกว่าประมาณการ ก็ทำให้น้ำเอ่อล้นพนังกั้นน้ำ และกระจายไหลเข้าพื้นที่ใกล้เคียง ถ้าดูแลพนังกั้นน้ำไม่แข็งแรงก็จะมีผลกระทบอย่างที่ได้เรียน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ถือว่าหนัก กระทบทรัพย์สินและชีวิตจึงจะต้องเร่งบรรเทาความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชนเร็วที่สุด ซึ่งจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ และมีประสิทธิภาพ ต้องทำงานสัมพันธ์กันทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่นจึงจำเป็นต้องประกาศอำนาจควบคุมตามพ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 31

อย่างไรก็ตาม ศปภ.ยังคงเป็นศูนย์กลางการจัดการเหมือนเดิม แต่เพื่อให้การจัดการบริหารทั้งระดับประเทศและท้องถิ่นทำงานร่วมกันอย่างสมบูรณ์และเพื่อให้การทำงานถึงพี่น้องประชาชนอย่างรวดเร็ว

ส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานคร อยู่ทางด้านใต้ติดกับทะเล จึงจำเป็นต้องเป็นพื้นที่ทางผ่าน ต้องมีการเปิดประตูระบายน้ะร่วมกับกรุงเทพมหานคร ทำอย่างไรให้ผันน้ำจากกรุงเทพมหานครลงสู่ทะเลโดยเร็วที่สุด โดยต้องคำนึงถึงระดับน้ำที่เหมาะสม ไม่ท่วมท้นจนสร้างความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชน ที่สำคัญต้องพิจารณาให้เกิดความเหมาะสม รอบคอบตามสถานการณ์ด้วย ดังนั้น ศปภ.มีแผนรองรับกรณีที่จะเกิดผลกระทบดังกล่าว ขอให้พี่น้องประชาชนใช้เวลาช่วงวันหยุดนี้ตรวจสอบข่าวสารของทาง ศปภ.และเตรียมการโยกย้ายสิ่งของขึ้นสู่ที่สูงอย่างน้อย 1 เมตรเพื่อความปลอดภัย รวมถึงระบบไฟฟ้า พี่น้องที่มีบ้าน 2 ชั้นสามารถแยกระบบไฟฟ้าได้ ให้แน่ใจว่าสามารถใช้งานได้ รถยนต์ และสิ่งของมีค่า

"สิ่งที่ดิฉันได้กราบเรียนไปถือเป็นการเตรียมตัวในช่วงวันหยุดนี้ เพื่อให้เกิดความรอบคอบและไม่ได้อยู่ในความประมาท โดย ศปภ.จะแจ้งข่าวสารให้ทราบเป็นระยะๆ"

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ในช่วงวันที่ 28-30 ต.ค. เป็นช่วงน้ำทะเลหนุนสูง ได้สั่งการให้กรมชลประทานเตรียมแผนรับมือ ทั้งในเรื่องของการระบายน้ำ ควบคุมประตูระบายน้ำ ปิดเขื่อนที่เป็นทางผ่านของน้ำเพื่อให้น้ำชะลอลง ซึ่งจะควบคุมในส่วนที่เป็นทางผ่านของน้ำได้

จึงขอเตือนประชาชนในการเตรียมรับมือว่าต้องไม่ตระหนกแต่ก็ไม่ประมาท เพราะหากมีการดำเนินการด้วยสติก็จะผ่านไปได้ นอกจากนี้ ขอความร่วมมือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ให้ดำเนินการอย่างเต็มที่และสุดความสามารถ

"ขอถือโอกาสนี้ขอบคุณพี่น้องประชาชน เจ้าหน้าที่ทุกท่าน ภาคเอกชนและภาครัฐ ในการรวมพลังแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน ขอให้พวกเราทุกคนอดทนเพื่อฟันฝ่าอุปสรรคครั้งนี้ให้ได้"นายกรัฐมนตรี กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ