รักษาการผบ.ตร. มอบ 5 มาตรการทำงานบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนช่วงน้ำท่วม

ข่าวทั่วไป Tuesday October 25, 2011 16:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รักษาการแทน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานประชุม วิดีโอคอนเฟอเรนส์ ร่วมกับ ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด และหัวหน้าสถานีทุกจังหวัด เน้นย้ำแนวทางการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งใช้เวลาประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมง

จากนั้น พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย ผู้บังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ในที่ประชุมได้สรุปพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย เป็น 3 ส่วน คือ จังหวัดที่ปัญหาอุทกภัยเริ่มคลี่คลายแล้วรอการฟื้นฟู ประกอบด้วยภาคเหนือ 8 จังหวัด และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 จังหวัด

กลุ่ม 2 เป็นจังหวัดที่เริ่มคลี่คลาย 4 จังหวัด ประกอบด้วย พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร และนครสวรรค์ และกลุ่มสุดท้ายเป็นจังหวัดที่มีปัญหาอุทกภัยอยู่ ประกอบด้วย 9 จังหวัดในพื้นที่ บช.ภ. 1 และบางจังหวัดใน บช.ภ. 2 เช่น ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และ บช.ภ. 7 คือ นครปฐม สุพรรณบุรี สมุทรสาคร และ สมุทรสาคร และกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะมีปัญหา 2 ฝั่ง คือ ตะวันออกและตะวันตกของแม้น้ำเจ้าพระยา เช่นเขตสายไหม คันนายาว คลองสามวา และ จรัลสนิทวงษ์ โดยทุกพื้นที่ต้องมีแผนการดูแลรักษาความปลอดภัยกับประชาชนช่วงน้ำท่วมและหลังน้ำลด

ทั้งนี้ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวต่อว่า พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ มีแนวทางการทำงาน 5 ข้อ คือ (1.) ให้ผู้บัญชาการทุกภาค ทุกหน่วย ผบก.ทุกจังหวัด ผบก. 1-9 หัวหน้าสถานีทุกแห่ง ต้องเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ถือเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุด โดยแต่ละหน่วยจะมีภารกิจที่สำคัญคือ นำประชาชนออกมาจากจุดอันตรายโดยเร็วที่สุด โดย บช.น. มอบหมายให้ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไฟ ผบก.น. 1 เป็นหัวหน้าชุดหน่วยเคลื่อนที่เร็วคุมกำลัง 880 นาย แบ่งเป็น 2 ชุดลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย แต่ละชุดจะมีรถบรรทุกขนาดใหญ่และเรือ ไว้คอยช่วยเหลือประชาชน นอกจากนี้ มอบหมายให้ บช.ก. และ ตชด. ร่วมปฎิบัติหน้าที่ด้วย

(2.) ช่วยเหลือประชาชนสู่จุดพักพิงชั่วคราว ก่อนส่งต่อไปสู่ศูนย์อพยพ

(3.) ปราบปรามอาชญากรรม คือ เข้าไปตรวจตราที่พักอาศัยของประชาชนที่ไม่มีคนอยู่อาศัย และหากอาสาสมัครรายใดต้องการจะช่วยเหลือกิจการตำรวจเพื่อร่วมเป็นสายตรวจสามารถติดต่อได้ยังสถานีตำรวจได้ทันที นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นเจ้าหน้าที่เป็นจราจร และคลี่คลายสถานการณ์ขัดแย้ง

(4.) ควบคุมการจราจร และ (5.) งานบริการทั่วไป

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวต่อว่า สำหรับประชาชนที่ทำตัวเป็นอาชญากรซ้ำเติม ซึ่งปกติแล้วข้อหาลักทรัพย์ มีความผิดตามมาตรา 334 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ แต่หากประชาชนรายใดลักทรัพย์ในช่วงบ้านเมืองประสบปัญหาอุทกภัย เวลากลางคืน รวมถึงการทำลายคันกั้นน้ำ จะมีโทษเพิ่มขึ้นคือจำคุกระหว่าง 1-5 ปี และปรับ 2,000-10,000 บาท ถ้าหากเป็นการกระทำผิดมากกว่า2 องค์ประกอบ มีโทษจำคุก 1-7 ปี และปรับ 20,000 -24,000 บาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ