นายกฯ เผยกรณีเลวร้ายสุดมีโอกาสที่น้ำในกทม.จะท่วมถึง 1.50 ม.

ข่าวทั่วไป Tuesday October 25, 2011 21:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงการณ์เตือนภัยสถานการณ์น้ำท่วมผ่านสถานีโทรทัศน์ร่วมการเฉพาะกิจหรือทีวีพูลว่า ขณะนี้มวลน้ำก้อนใหญ่ที่ไหลมาจากภาคกลางจะผ่านกรุงเทพมหานครเพื่อไหลลงสู่ทะเล ข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่คือ พลังของน้ำครั้งนี้มีแนวโน้มมากเกินกว่าที่พนังกั้นน้ำประตูน้ำ หรือมาตรการต่าง ๆ จะป้องกันไว้ได้ และมีโอกาสอย่างสูงยิ่งที่น้ำจะทะลักเข้ามาทั้งในเขตพื้นที่ชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นใน

ขณะนี้พื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่สุด คือ แนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา และแนวพนังกั้นน้ำต่าง ๆ พื้นที่ที่อยู่นอกแนวริมน้ำ ก็จะได้รับผลกระทบ โดยการเกิดน้ำท่วม ส่วนระดับน้ำจะสูงเท่าใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถในการบริหารจัดการวิกฤตน้ำทะลักครั้งนี้ ให้ค่อยเป็นค่อยไป พร้อมกับบรรเทาความรุนแรง ตลอดจนขึ้นอยู่กับความสูงของพื้นที่ ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำท่วมสูงบ้างท่วมน้อยบ้างแตกต่างกันไป

"ดิฉันได้กำชับให้หน่วยงานของทุกกระทรวง กรุงเทพมหานคร และ ทุกเหล่าทัพ ได้ระวังกันอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะให้มวลน้ำ ก้อนใหญ่นี้ สร้างความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชนน้อยที่สุด หรือในพื้นที่ที่จำกัดได้"นายกฯ กล่าว

พร้อมยืนยันว่า ทุกฝ่ายจะใช้วิธีการแก้ไขปัญหาอย่างเต็มความสามารถในการป้องกันไม่ให้น้ำเข้าท่วมในกรุงเทพมหานครนั้น ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคประชาชนได้พยายามป้องกันบริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่ฝั่งธนบุรี ซึ่งขณะนี้มีน้ำเหนือซึ่งผ่านจังหวัดปทุมธานี และนนทบุรี ได้ล้นเข้ามาที่บริเวณอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และเขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร และขณะนี้ก็กำลังป้องกันบริเวณคลองมหาสวัสดิ์ โดยเร่งระบายน้ำลงแม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อระบายไปสู่อ่าวไทย

นอกจากนั้นตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา รัฐบาลและกรุงเทพมหานครจะดูแลแนวคันกั้นน้ำเพื่อให้สามารถทานแรงอันมหาศาลของน้ำให้ได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากน้ำมีปริมาณมากเกินกว่าศักยภาพของระบบจะรองรับได้ ดังนั้น พื้นที่ในเขตต่าง ๆ ทางฝั่งธนบุรี รวมทั้งจังหวัดปริมณฑลจะมีน้ำท่วมในพื้นที่ที่เป็นที่ลุ่มในระดับเฉลี่ยประมาณ 0.5 เมตร

อีกมาตรการหนึ่งที่ได้พยายามกระทำเพื่อลดความกดดันของพลังน้ำ คือ การปิดประตูระบายน้ำปากคลองเปรมประชากร เพื่อให้พื้นที่ที่อยู่บริเวณตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะเขตดอนเมือง หลักสี่ สายไหม บางซื่อ บางเขน ถนนพหลโยธิน ไปจนถึงอนุสรณ์สถานดอนเมือง และถนนวิภาวดีรังสิต ได้รับผลกระทบที่ลดน้อยลงโดยจะเร่งระบายน้ำจากคลองรังสิตลงคลองหกวาสายล่าง เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะเข้าสู่กลางใจเมืองกรุงเทพมหานคร หรือพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นใน และไม่สร้างความเสียหายให้มากเกินไป ซึ่งถ้ามาตรการเหล่านี้เป็นไปตามแผน และไม่มีการเสียหายของแนวป้องกันเพิ่มเติม ก็น่าจะสามารถควบคุมไม่ให้ระดับน้ำสูงเกิน 50 เซนติเมตร

บริเวณด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานคร คือ บริเวณมีนบุรี หนองจอก ลาดพร้าว ซึ่งมีคลองระพีพัฒน์ คลองหกวาสายล่าง คลองแสนแสบ ก็จะมีทั้งมาตรการเร่งระบายน้ำไปทางตะวันออก เพื่อลงสู่ทะเลตามแนวคลองที่ขุดเอาไว้และออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาผ่านคลองแสนแสบอีกด้วย อย่างไรก็ตามเนื่องจากพื้นที่เหล่านี้อยู่ในเขตหลากน้ำ ดังนั้น ระดับน้ำจะสูงกว่าบริเวณอื่น ๆ โดยจะอยู่ในช่วงประมาณ 1 ถึง 1.5 เมตร "กรณีที่เลวร้ายที่สุด หากเราไม่สามารถป้องกันแนวป้องกันจุดใดจุดหนึ่งหรือทั้ง 3 จุดดังกล่าวได้ หรือไม่สามารถชะลอพลังอันมหาศาลของน้ำได้ หรือมีปัจจัยอื่น ที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น แนวเขื่อนพัง แนวพนังกั้นน้ำพัง ระดับน้ำในทะเลสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ระดับน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครก็จะสูงต่ำแตกต่างกันไป ตั้งแต่ราว 10 ซม. จนถึงระดับประมาณ 1.50 เมตร ฉะนั้นต้องควบคุมให้น้ำเข้าในเขตกรุงเทพมหานครเป็นจำนวนน้อยวันที่สุด โดยการหยุดการไหลเข้าให้เร็วที่สุด และใช้ระบบสูบน้ำทั้งหมดที่มีอยู่ เพื่อระบายน้ำออกอย่างเต็มที่ โดยถ้าเราสามารถดำเนินการตามเป้าหมายได้ ก็จะทำให้กรุงเทพมหานครได้รับผลกระทบน้อยหรือเพียงบางส่วน"

นายกฯ กล่าวว่า เพื่อไม่ให้เป็นการประมาท อยากให้พี่น้องประชาชนเคลื่อนย้ายสิ่งของที่มีค่าขึ้นในที่สูง และเพื่อความไม่ประมาทตั้งแต่เมื่อวานนี้ ได้มอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดเพื่อรักษาสถานที่สำคัญ เช่น พระบรมมหาราชวัง โรงพยาบาลศิริราช เขตพระราชฐานต่าง ๆ ระบบสาธารณูปโภค เช่น โรงไฟฟ้า โรงประปา โรงพยาบาล ให้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย

นอกจากนี้ เพื่อรองรับสถานการณ์ระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นตามแนวถนนวิภาวดีรังสิตด้านทิศเหนือ และด้วยความไม่ประมาท ได้ขอให้ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ย้ายผู้ที่พำนักอยู่ในศูนย์พักพิงที่ท่าอากาศยานดอนเมืองไปยังศูนย์พักพิงอื่นในกรุงเทพมหานครตอนใน และต่างจังหวัด เพื่อความสะดวกและความปลอดภัย

ทั้งนี้ได้สั่งการให้เคลื่อนย้ายเครื่องอุปโภคและบริโภค ที่ได้รับบริจาค เพื่อแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัยจากท่าอากาศยานดอนเมือง ชั้นล่าง ไปเป็นที่อาคารจันทะนะยิ่งยง ในบริเวณสนามกีฬาแห่งชาติศุภชลาศัย ซึ่งสามารถไปบริจาคและช่วยบรรจุสิ่งของที่นั่นได้ ตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ศูนย์ปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.)จะปฏิบัติหน้าที่ดูแลพี่น้องประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถจนกว่าเหตุวิกฤตครั้งนี้จะผ่านพ้นไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ