ปลัด สธ.ยันพร้อมเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในกรุงเทพฯ ไปภูมิภาคหากถูกน้ำท่วม

ข่าวทั่วไป Thursday October 27, 2011 15:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.พ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธาณสุข ได้สั่งการให้รับผิดชอบการย้ายผู้ป่วยจาก กทม.ไปยังโรงพยาบาล 5 กลุ่มตามที่ตกลงไว้ ได้แก่ สังกัด กทม. กองทัพและตำรวจ โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลเอกชน และกรมการแพทย์ โดยให้ดูแลย้ายภายในเครือข่ายก่อน ส่วนโรงพยาบาลที่ต้องการความช่วยเหลือกระทรวงฯ จะช่วยประสานงานในการย้ายผู้ป่วยให้ เพราะจำนวนผู้ป่วยยังไม่นิ่ง ขณะนี้คาดว่ามีประมาณ 100-200 ราย ซึ่งกำลังจัดระบบเพื่อให้ผู้ป่วยเหล่านี้ได้ไปรักษาต่อในโรงพยาบาลส่วนภูมิภาค สิ่งสำคัญที่สุดคือให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยสูงสุด

โดยขณะนี้เป็นการทำงานร่วมกันของหลายฝ่าย ส่วนแรกคือต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลสังกัดใดจะต้องเตรียมผู้ป่วยให้พร้อม ส่วนการขนย้ายผู้ป่วยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินจะเป็นผู้ดำเนินการ และส่วนที่ 3 คือโรงพยาบาลที่จะรองรับผู้ป่วยที่เป็นเครือข่าย กระทรวงฯ เตรียมการให้ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการเคลื่อนย้ายจาก กทม.ไปยังส่วนภูมิภาคได้อย่างปลอดภัยตั้งแต่วานนี้ ซึ่งย้ายผู้ป่วยแล้ว 49 ราย วันนี้ตั้งเป้าหมาย 50-100 ราย เพราะการย้ายผู้ป่วยหนักต้องทำด้วยความระมัดระวัง ต้องมีการเตรียมการเป็นอย่างดี โดยจะต้องเคลื่อนย้ายทั้งเครื่องมือแพทย์ ออกซิเจน ญาติ และทีมแพทย์พยาบาลที่ติดตามไปดูแลผู้ป่วยระหว่างการเดินทาง ขณะเดียวกันต้องเตรียมทีมที่จะรับผู้ป่วยและสถานที่ พร้อมรักษาต่อได้ทันที

การย้ายผู้ป่วยเป้าหมายหลักคือ ผู้ป่วยสีแดงเป็นกลุ่มผู้ป่วยหนักที่อาการคงที่ หากอาการไม่คงที่จะไม่ย้าย ส่วนกลุ่มสีเหลืองคืออาการปานกลาง และสีเขียวคืออาการไม่หนัก ได้ตกลงกันแล้วว่าให้โรงพยาบาลรับผิดชอบดูแลเอง เพราะจากการประเมินตนเองของโรงพยาบาลใน กทม. หากน้ำท่วมจนถึง 2 เมตร พบว่าทุกแห่งพร้อมให้การดูแลดูแลผู้ป่วย 2 กลุ่มนี้ได้ โดยได้เตรียมน้ำ ไฟ ยา เวชภัณฑ์ ออกซิเจนไว้อย่างเพียงพอ ส่วนกระทรวงสาธารณสุขจะดูแลตามหน้าที่รับผิดชอบคือดูแลความปลอดภัยและชีวิตของผู้ป่วยในภาพรวม ไม่ว่าจะรักษาในโรงพยาบาลสังกัดรัฐหรือเอกชน

สำหรับการดูแลผู้ประสบภัยในศูนย์พักพิงได้จัดบริการครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน คือ 1.บริการทางการแพทย์ 2.บริการด้านสุขภาพจิต ให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัยให้เข้มแข็ง 3.การเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรค และ 4.ดูแลความปลอดภัยของอาหารและน้ำ โดยให้ทำแผนที่ศูนย์พักพิงทั้งหมดและจัดบริการให้ครบทั้ง 4 ด้าน

ส่วนกรณีผู้ประสบภัยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน และมีปัญหาเรื่องการเก็บค่าบริการนั้น น.พ.ไพจิตร์ กล่าวว่า ได้แก้ไขปัญหาโดยประสานกับนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนแล้ว โดยขณะนี้ประชาชนมีสิทธิในการรักษาพยาบาลแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2.ประกันสังคม และ 3.สวัสดิการข้าราชการ โดยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและประกันสังคมสามารถไปใช้สิทธิได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินแล้วจะเรียกเก็บเงินจากหน่วยบริการของแต่ละกองทุนในภายหลัง ส่วนที่มีปัญหาขณะนี้คือข้าราชการได้หารือกรมบัญชีกลางแล้วว่า กรณีผู้ป่วยนอกให้ประสานขอยกเว้นการเก็บเงินในช่วงนี้ก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ