ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผุ้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เร่งเดินหน้าในการดำเนินการผลักดันน้ำลงสู่กทม.ฝั่งตะวันออก ซึ่งขณะนี้ทุกหน่วยงานเห็นตรงกันว่าเป็นวิธีที่จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมในกทม.ได้ แต่ปัญหาคือสภาพสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปมาก สภาพคลองมีการปรับเปลี่ยนทำให้การเคลื่อนปริมาณน้ำทำได้ลำบาก นอกจากนี้การที่มีน้ำทะเลหนุนสูงยังเป็นอุปสรรคทำให้การระบายน้ำล่าช้า ดังนั้นคาดว่าพื้นที่บางแห่งของกทม.จะยังคงมีภาวะน้ำท่วมขังอยู่อีกราว 4-5 วันเป็นอย่างน้อยจนกว่าภาวะน้ำทะเลหนุนจะลดลง
นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ในการทำงาน กทม.และศปภ. มีการทำงานประสานกันมาตลอด มีคิดไม่ตรงกันบ้างแต่ทางเทคนิคเข้าใจตรงกัน พร้อมระบุว่าขณะนี้ระบบการระบายน้ำของ กทม.ยังทำงานได้ดีอยู่ เนื่องจากเดิมคาดการณ์น้ำจะไหลมาบริเวณบางซื่อ จตุจักร แต่ขณะนี้ปริมาณน้ำมาช้ากว่าที่คิด
นายธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา ในฐานะโฆษก ศปภ.กล่าวว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นสอดคล้องกันในการเร่งระบายน้ำสู่ฝั่งตะวันออก ซึ่งถือเป็นมาตรการสำคัญที่ต้องเร่งปฎิบัติ และไม่มีความจำเป็นต้องเก็บกักน้ำไว้ แต่เนื่องจากการปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย
ด้านนายวีระ วงศ์แสงนาค อดีตรองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้สถานีสูบน้ำต่างๆ ของกรมชลประทานมีความพร้อมรองรับ และพร้อมใช้ศักยภาพเต็มกำลัง แต่ที่เป็นปัญหาอยู่ขณะนี้ คือ การเดินทางของน้ำ
นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของ เปลือกโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า แนวคิดในการบริหารจัดการน้ำไม่แตกต่างกัน ทุกหน่วยงานทั้ง ศปภ. กรมชลประทาน กรมทางหลวง กรมทรัพยากรน้ำเห็นตรงกันในการเร่งผลักดันน้ำลงใต้คลองหกวา แต่การบริหารจัดการไม่ง่าย เนื่องจากมีสิ่งกีดขวางทางน้ำ อาทิ ตอม่อใต้น้ำ คันคลองที่บุกรุกเข้ามา
นอกจากนี้การที่น้ำทะเลหนุนในช่วงนี้ถือเป็นปัญหาอุปสรรค ซึ่งทำให้ภาวะน้ำท่วมขังจะต้องมีอีก 4-5 วัน เป็นอย่างน้อยจนกว่าภาวะน้ำทะเลหนุนจะลดลง
"การจัดการในภาพรวมหากรวดเร็วก็จะแก้ปัญหาได้เร็ว ถ้าปล่อยไว้ก้จะแก้ได้ช้า ซึ่งก้พยายามทำให้ปัญหาจบเร็ว" นายอานนท์ กล่าว