นายธงทอง จันทรางศุ ปฏิบัติหน้าที่โฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) ชี้แจงคำแนะนำการปฏิบัติในการอพยพไปศูนย์พักพิงชั่วคราว โดยให้เตรียมเอกสารสำคัญและสิ่งของที่จำเป็น เช่น บัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ยารักษาโรค ไฟฉาย น้ำดื่ม ถุงพลาสติกบรรจุสิ่งของ บรรจุลงในกระเป๋าที่สะพายได้ง่าย ส่วนกรณียังคงต้องการอยู่ที่เดิมไม่ย้ายออกไปไหน ให้ระบุที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ไว้กับผู้นำชุมชนของตัวเอง
สำหรับการเดินทางไปจุดนัดหมายให้กำหนดชื่อกลุ่มที่เรียกง่าย กำหนดหัวหน้ากลุ่ม จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ต้องการอพยพ กำหนดบุคคลที่เป็นผู้แจ้งเหตุติดตามข่าวสารทางสื่อมวลชน ระบุสัญญาณที่ชัดเจน ตรวจสอบยอดผู้ประสบแล้วแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ
ส่วนการปฏิบัติตัวที่จุดนัดพบนั้น ขั้นต้นเมื่อยานพาหนะทหารมาถึงให้ส่งบัญชีรายชื่อกับเจ้าหน้าที่และให้เด็ก สตรี และคนชราไปก่อน โดยหัวหน้ากลุ่มจะไปเป็นคนสุดท้าย
การปฏิบัติเมื่อมาถึงพื้นที่รวบรวมผู้ประสบภัย ผู้ควบคุมยานพาหนะของฝ่ายทหารแจ้งชื่อกลุ่มและยอดผู้ประสบอุทกภัยที่นำมาส่งยังพื้นที่รวบรวมผู้ประสบภัย พร้อมทั้งส่งบัญชีราบชื่อให้ผู้ประสานงานฝ่ายพลเรือน ผู้ควบคุมฝ่ายพลเรือนเรียกชื่อกลุ่ม ตรวจสอบยอดผู้ประสบภัยว่าถูกต้องหรือไม่ เจ้าหน้าที่รัฐจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประสบอุทกภัยระหว่างรอคอยการขนส่งไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว
ขั้นตอนสุดท้ายการปฏิบัติศูนย์พักพิงชั่วคราว ให้ผู้ควบคุมรถของฝ่ายพลเรือนนำบัญชีรายชื่อผู้ประสบอุทกภัย ให้กับหัวหน้าศูนย์พักพิงชั่วคราว ตรวจสอบรายชื่อ ตัวบุคคลและกลุ่มให้ตรงกัน โดยดำเนินการตามคู่มือการบริหารจัดการศูนย์พักพิงชั่วคราวอย่างถูกต้อง จนถึงเหตุการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติและผู้อพยพกลับสู่ถิ่นฐานเดิมและปิดศูนย์พักพิงชั่วคราว