รมว.สาธารณสุข ยันไม่เกิดปัญหายารักษาโรคขาดแคลนจากท้องตลาดและโรงพยาบาลทุกแห่ง โดยขณะนี้มียาเวชภัณฑ์เพียงพอ แต่ในอนาคตอาจมีความต้องการใช้ยาบางรายการมากขึ้น เช่น กลุ่มยาปฏิชีวนะ ซึ่งวันพรุ่งนี้(1 พ.ย.) เตรียมเสนอเรื่องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ออก 3 มาตรการผ่อนผันให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการยานำเข้า
"สถานการณ์ยาในประเทศยังไม่มีปัญหาขาดแคลนแต่อย่างใด และโรงงานที่ถูกน้ำท่วมมีสต็อกยาเก็บไว้ชั้นบนสามารถนำมาใช้ได้ทันที" นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข กล่าว
สำหรับความช่วยเหลือผู้รับอนุญาตผลิตยาที่โรงงานได้รับความเสียหายจากอุทกภัยนั้น กระทรวงสาธารณสุขเตรียมข้อเสนอ 3 ประการจากผู้ประกอบการเสนอที่ประชุม ครม.ได้แก่ 1. ว่าจ้างผู้ผลิตยารายอื่นทดแทนเป็นการชั่วคราวจนกว่าโรงงานจะกลับมาผลิตได้อีกครั้ง โดยตำรับยาที่จะผลิตนั้นต้องมีสูตร ฉลาก เอกสารกำกับยา ขนาดบรรจุ เอกสารการควบคุมคุณภาพและรายละเอียดอื่นๆ เหมือนกับทะเบียนกำกับยาที่ผลิตเดิม แต่ให้ผ่อนผันการส่งข้อมูลการตรวจสอบความถูกต้องของกระบวนการผลิต และการศึกษาความคงสภาพยาภายหลัง 2.การนำเข้ายาบางรายการโดยเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่ได้ว่าจ้างโรงงานผลิตยาให้ แต่โรงงานดังกล่าวถูกน้ำท่วมเสียหาย โดยประสงค์ที่จะนำเข้ายาจากต่างประเทศมาทดแทนยาที่ผลิต ให้ขอความร่วมมือจาก อภ.เป็นผู้นำสั่งยาเพื่อทดแทนในรายการที่ผลิตไม่ได้ และ 3.การจัดส่งยาให้ อย.ขอความร่วมมือจากบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เข้ามาร่วมในการจัดส่งและกระจายยาไปยังพื้นที่เป้าหมายทั่วทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
"กระทรวงสาธารณสุขจะได้พิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยในขณะนี้ด้วย โดยจะนำข้อเสนอที่กล่าวมาเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้" นายวิทยา กล่าว
เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในขณะนี้มีโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตยาและเวชภัณฑ์ได้รับผลกระทบมากกว่า 10 แห่ง ผลิตยาที่ขึ้นทะเบียนกว่า 393 ตำรับ กระทรวงสาธารณสุขจึงจำเป็นต้องหามาตรการป้องกันปัญหาการขาดแคลนยาที่จำเป็นในการรักษาทั้งในท้องตลาดและในโรงพยาบาล โดยเฉพาะในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งโรงพยาบาลทุกแห่งต้องใช้เหมือนกันทั่วประเทศ และในช่วงที่มีน้ำท่วมขัง มีความจำเป็นต้องใช้ยาเวชภัณฑ์บางรายการใช้ในการรักษาโรคเพิ่มสูงขึ้น เช่น ยาปฏิชีวนะ โดยสั่งการให้ น.พ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และ น.พ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(อภ.) จัดหายาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นให้เพียงพอ ประชุมผู้ผลิตยาและผู้ประกอบการเพื่อหารือถึงการเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานยาในประเทศไทย หากมีความจำเป็นให้ อภ.เป็นผู้นำเข้ายาและเวชภัณฑ์จากต่างประเทศ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนยาของผู้ป่วย