อากาศร้อนเสี่ยงฮีตสโตรก! เช็กสัญญาณเตือนด้วยตนเอง

ข่าวทั่วไป Sunday April 27, 2025 13:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อากาศร้อนเสี่ยงฮีตสโตรก! เช็กสัญญาณเตือนด้วยตนเอง

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงสภาพภูมิอากาศที่ร้อนจัดในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดความเสี่ยงฮีตสโตรกว่า จากข้อมูลของกรมอนามัยรายงานพบว่าปี 2562 - 2567 มีแนวโน้มผู้เสียชีวิตจากฮีตสโตรกเพิ่มขึ้น โดยมีผู้เสียชีวิตสะสม 212 ราย เฉลี่ย 27 รายต่อปี ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย 197 ราย มีอายุระหว่าง 41-60 ปี และมีปัจจัยประกอบ ได้แก่ มีโรคประจำตัว ทำกิจกรรมกลางแจ้ง และมีพฤติกรรมดื่มสุรา

สำหรับปี 2568 พบอัตราป่วยด้วยโรคจากความร้อน กลุ่มฮีตสโตรก จำนวน 32 คน คิดเป็น 0.07 ต่อแสนประชากร อัตราป่วยสูงสุดที่จังหวัดตราด รองลงมาคือ สระแก้ว ปราจีนบุรี เลย นครราชสีมา แพร่ ตามลำดับ

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการคาดการณ์ดัชนีความร้อนของประเทศไทย ในช่วงวันที่ 27 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2568 ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก และภาคใต้ จะมีค่าดัชนีความร้อนอยู่ในระดับอันตราย (สีส้ม) หรือ 42.0 - 51.9 องศา ถึงอันตรายมาก (สีแดง) หรือมากกว่าหรือเท่ากับ 52 องศา ขึ้นไป โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต ปัตตานี นครศรีธรรมราช และสงขลา จะอยู่ในระดับอันตรายมาก

อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้วดัชนีความร้อน หรือ Heat Index คือ ค่าอุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ จะมีค่าสูงกว่าอุณหภูมิอากาศจริงเสมอ เนื่องจากมีปัจจัยความชื้นสัมพัทธ์ ซึ่งมีผลต่อการระบายความร้อนของร่างกาย เมื่ออากาศร้อน อุณหภูมิอากาศและความความชื้นสัมพัทธ์สูง เหงื่อที่ถูกขับออกมาจะไม่ระเหย ร่างกายจะรู้สึกร้อนมากกว่าอุณหภูมิจริง

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก และคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) คาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2050 กว่า 50% ของประชากรโลก จะสัมผัสอุณหภูมิที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างน้อยปีละ 20 วัน ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากความร้อนอาจเพิ่มขึ้น 3 เท่า ในกลุ่มประเทศเขตร้อน โดยเฉพาะในประชากรกลุ่มเปราะบาง

"ดังนั้น จึงอยากย้ำเตือนในช่วงที่มีอากาศร้อนจัดขอให้ประชาชนหมั่นสำรวจสุขภาพ สังเกตอาการตัวเอง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ ผู้ที่ทำกิจกรรมกลางแจ้ง ควรดื่มน้ำบ่อย ๆ ไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ งดดื่มแอลกอฮอล์ ของมึนเมา เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เช่น ชาเขียว น้ำอัดลม หรือหากรู้สึกว่าตัวร้อนจัด ผิวหนังแดงและแห้ง หัวใจเต้นเร็วและแรง สับสน พูดจาไม่รู้เรื่อง คลื่นไส้ จะเป็นลม ต้องพยายามลดอุณหภูมิในร่างกายลง โดยนำผ้าชุบน้ำเย็น หรือน้ำแข็งประคบตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหลังคอ รักแร้ ขาหนีบ เพื่อให้อุณหภูมิร่างกายลดลงโดยเร็ว ถ้าอาการไม่ดีต้องนำรีบส่งโรงพยาบาล หรือโทร 1669 ถ้าไม่ได้รับการปฐมพยาบาลอย่างถูกต้องและทันเวลา อาจทำให้เสียชีวิตได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง" รมว.สาธารณสุข กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ