(เพิ่มเติม1) ผู้ว่าฯกทม.ห่วงบางชัน-ลาดกระบังเสี่ยงหลังเปิดประตูน้ำคลอง 10-คลองสามวา

ข่าวทั่วไป Tuesday November 1, 2011 13:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร(กทม.)ระบุในช่วงเช้าวันนี้ว่า ขณะนี้สถานการณ์ด้านฝั่งตะวันออกของกทม.น่าเป็นห่วง หลังเปิดประตูระบายน้ำคลองสามวา 1 เมตรตามคำสั่งศูนย์ปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ).ทำให้น้ำไหลเข้าพื้นที่ด้านบางชันเร็วขึ้น ทำให้แขวงบางชัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เป็นพื้นที่เสี่ยงแล้ว รวมถึงลาดกระบังจะเป็นพื้นที่เสี่ยงในชั้นต่อไป

"ด้านตะวันตกการบริหารจัดการไม่ดีเท่าด้านตะวันออก ซึ่งปัญหาทางตะวันออกแก้ได้โดยใช้เครื่องมือที่มีอยู่ แต่รัฐบาลต้องใจแข็งกับประชาชนที่มาเรียกร้องเพื่อรักษาประโยชน์ของส่วนรวม ขณะที่การเปิดประตูระบายน้ำคลอง 10 ที่ปทุมฯ และเปิดที่คลองสามวา เสี่ยงสูงท่วมนิคมฯลาดกระบังและบางชัน รวมทั้งพื้นที่กรุงเทพตะวันออกทั้งหมด"ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

ผู้ว่าราชการ กทม. กล่าวว่า อย่างไรก็ตามยังมีวิธีที่สามารถบริหารจัดการได้ คือ การปิดประตูระบายน้ำคลอง 8 คลอง 10 ซึ่งเป็นส่วนของกรมชลประทาน แต่ล่าสุดได้รับทราบอย่างไม่เป็นทางการว่าไม่สามารถปิดประตูระบายน้ำได้ เนื่องจากประชาชนคัดค้าน

"ถ้าตรงโน้นหรี่ไม่ได้ แล้วเปิดคลองสามวากว้างจะกระทบ หนองจอก มีนบุรี ...ลาดกระบัง คลองแสนแสบ คลองลำปะทิว ที่สุดนิคมฯบางชัน นิคมฯลาดกระบัง และถ้าน้ำเข้ามาคันกั้นได้จะกระทบต่อ กทม.เหนือ กลางได้" ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

ขณะนี้ทางผู้อำนวยการสำนักระบายน้ำ กทม. ได้เดินทางไป ศปภ.เพื่อหารือให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน ขณะเดียวกัน กทม.ได้ประสานไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอเครื่องสูบน้ำในการระบายน้ำทางตะวันตกออกทางเจ้าพระยาลงทางคลองภาษีเจริญ และคลองมหาชัย

นายสัญญา ชีนิมิต ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวว่า น้ำในคลองมหาสวัสดิ์ส่วนหนึ่งล้นผ่านเข้ามาในด้านกรุงเทพฯตะวันตกแล้ว ระบบระบายน้ำหลักในขณะนี้คือคลองภาษีเจริญ โดยได้เร่งระบายออกไปยังคลองอื่นๆ เพื่อลงแม่น้ำเจ้าพระยา และกทม.ได้ประสานขอให้ศปภ.เพิ่มระบบระบายน้ำที่กระทุ่มแบนเพื่อระบายน้ำออกไปยังพื้นที่อื่นให้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม มวลน้ำที่มาจากทางเหนือค่อนข้างมาก ทางฝั่งธนบุรีจึงต้องเร่งป้องกัน ทั้งนี้ กทม.ได้เร่งดำเนินการเสริมแนวป้องกันแล้ว แต่รถบรรทุกเข้าไปได้ยากมาก จึงได้เปลี่ยนมาใช้เรือแทน และเร่งดำเนินการสูบน้ำโดยใช้ปั๊มน้ำ 4 ตัว สามารถระบายได้ 100 กว่า ลบ.ม.ต่อวินาที และที่ จ.นครปฐมก็สามารถเร่งระบายได้ 100 กว่า ลบ.ม.ต่อวินาทีเช่นเดียวกัน

ในส่วนกรุงเทพฯ ตะวันออกจากการที่ ศปภ.ไม่สามารถปิดประตูระบายน้ำด้านบนได้ เนื่องจากประชาชนไม่ยอม ทำให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านล่าง และหากน้ำล้นคันเข้ามาจะทำให้พื้นที่ทั้งหมดมีปัญหา ทั้งนี้มีหลายตัวแปรทั้งที่ประตูน้ำมีนบุรี ประเวศ การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องดูตัวแปรทั้งหมดนี้เข้าด้วยกันด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ