รมว.สาธารณสุข(สธ.) สั่งการให้กรมควบคุมโรคพัฒนาชุดป้องกันโรคติดต่อจากน้ำท่วมประจำครัวเรือน โดยเบื้องต้นสามารถผลิตได้แล้ว 50,000 ชุด ประกอบด้วยยา เวชภัณฑ์ และวัสดุจำเป็นจำนวน 10 รายการ
"แม้ว่าขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขจะสามารถควบคุมป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดในช่วงน้ำท่วมก็ตาม แต่ก็ยังเป็นห่วงสถานการณ์ เนื่องจากมีพื้นที่ได้รับผลกระทบกว้างขวางมาก และประชาชนจะต้องใช้ชีวิตอยู่กับน้ำต่อไปอีกอย่างน้อย 3 สัปดาห์ขึ้นไป ทั้งผู้ที่อยู่ในจุดพักพิงรวมกัน และผู้ที่อยู่ในบ้านจึงต้องดำเนินการป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดอย่างเข้มงวด และให้กรมควบคุมโรคพัฒนาชุด และยา เวชภัณฑ์ป้องกันโรคง่ายๆ เพื่อให้ผู้ประสบภัยไว้ใช้ดูแลตัวเองขั้นต้นเมื่อเจ็บป่วย และประการสำคัญคือไม่แพร่เชื้อไปสู่คนอื่น เพื่อนำไปแจกให้ประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมต่อไป" นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข กล่าว
ด้น น.พ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ชุดป้องกันโรคง่ายๆ และจำเป็นสำหรับให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่จัดทำครั้งนี้มี 10 รายการ ได้แก่ 1.ครีมทารักษาโรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อรา 1 หลอด 2.ครีมรักษาโรคน้ำกัดเท้า 1 หลอด 3.ยาแก้แพ้ 10 เม็ด 4.ยาแก้ปวดลดไข้ 20 เม็ด 5.ผงน้ำตาลเกลือแร่จำนวน 2 ซอง 6.พลาสเตอร์ปิดแผล 3 ชิ้น 7.หน้ากากอนามัย 5 ชิ้น 8.ถุงดำ 2 ใบ 9.ยาทากันยุงชนิดซอง 2 ซอง และ 10.เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ 1 หลอด เพื่อใช้ฆ่าเชื้อโรคที่มือ กรณีที่ขาดแคลนน้ำสะอาดล้างมือ
รายการเวชภัณฑ์ ยา ดังกล่าวนี้ใช้ได้ง่ายมาก เช่น กรณีที่มีสมาชิกในครัวเรือนเป็นไข้หวัดก็สามารถดูแลให้กินยาลดไข้ และให้ผู้ที่ป่วยใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันไม่ให้เอาเชื้อไข้หวัดไปติดคนอื่นได้ ขณะนี้ได้ผลิตแล้ว 50,000 ชุด เร่งทยอยแจกผู้ประสบภัยให้ทั่วถึงแล้ว
สำหรับผลการเฝ้าระวังโรคติดต่อในพื้นที่น้ำท่วม รายงานจากศูนย์พักพิงขนาดใหญ่ใน 12 จังหวัดพบผู้ป่วยประปราย เช่น โรคตาแดงประมาณร้อยละ 2-3 ของจำนวนผู้ที่เข้ามาพักในศูนย์พักพิงที่มารับบริการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่เกิดมาจากน้ำสกปรกเข้าตา เช่น ขณะเล่นน้ำ หรือลงไปหาปลา พบผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่จำนวน 147 ราย โรคอุจจาระร่วงเฉลี่ยวันละ 170-200 ราย กรมควบคุมโรคได้ส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว เพื่อสอบสวน ควบคุม และหยุดยั้งโรค ไม่พบการแพร่ระบาดของโรค