การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชี้แจงการบริหารจัดการน้ำในเขื่อน โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ว่า การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนของ กฟผ. ตามหลักการจะควบคุมให้ระดับน้ำ อยู่ในกรอบของ “เกณฑ์ควบคุมระดับน้ำ” (Rule Curve) ซึ่งมีอยู่ 2 เกณฑ์ คือ “เกณฑ์ควบคุมระดับน้ำตัวล่าง” (Lower Rule Curve) ที่ทำหน้าที่บอกว่า หากเก็บน้ำไว้ต่ำกว่าระดับนี้ จะมีความเสี่ยงเรื่องการขาดแคลนน้ำในปีหน้า และ “เกณฑ์ควบคุมระดับน้ำตัวบน” (Upper Rule Curve) ที่หากเก็บน้ำไว้สูงกว่าระดับนี้จะมีความเสี่ยงเรื่อง น้ำล้นเขื่อนจนอาจต้องเปิดประตูระบายน้ำล้น (Spillway)
โดยในการจัดทำเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำนั้น ได้นำปัจจัยและข้อมูลของปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำและความต้องการใช้น้ำของพื้นที่ท้ายเขื่อนในรอบกว่า 30 ปีมาประกอบการจัดทำ ทั้งนี้ยังได้ทำการปรับปรุงตามสภาวการณ์เป็นระยะๆ
"ในสภาวการณ์ปกติ เขื่อนจะควบคุมไม่ให้ระดับน้ำต่ำกว่า เกณฑ์ควบคุมระดับน้ำตัวล่าง ในช่วงฤดูแล้งและช่วงฤดูฝน เขื่อนก็จะพยายามระบายน้ำเพื่อไม่ให้ระดับน้ำสูงเกินเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำตัวบน ดังนั้นเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำจึงเปรียบเสมือนเกณฑ์ที่คอยควบคุมระดับน้ำในเขื่อนให้มีปริมาณน้ำเก็บกักที่เหมาะสมตามสภาวการณ์ของปริมาณน้ำทั้งเหนือเขื่อนและสภาพน้ำในลุ่มน้ำท้ายเขื่อน เพื่อให้มีน้ำไว้ใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในภาพรวมตลอดทั้งปี" กฟผ. ระบุ
สำหรับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ โดยคณะอนุกรรมการฯ จะติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและร่วมกันพิจารณาปริมาณน้ำที่เหมาะสมที่จะต้องระบายออกจากเขื่อนทุกสัปดาห์หรือทุกวัน ซึ่ง กฟผ.ก็ได้ปฏิบัติตามมติของคณะอนุกรรมการฯ มาโดยตลอด
ทั้งนี้ในช่วงต้นฤดูฝนปีนี้ ณ วันที่ 1 พ.ค. เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำเก็บกัก 6,076 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 45.1 ของความจุ เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำเก็บกัก 4,784 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 50.3 ของความจุ ซึ่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำ (Rule Curve) ที่ใช้เป็นกรอบในการปฏิบัติการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนแล้วถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมาก ซึ่งตามแนวปฏิบัติของการบริหารจัดการน้ำตามสถิติข้อมูลที่ใช้อ้างอิง จะต้องเก็บกักน้ำไว้ เพื่อให้สามารถมีน้ำไว้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในภาพรวมตลอดทั้งปี ดังนั้นปริมาณน้ำที่ระบายน้ำออกจากเขื่อนในช่วงนี้จึงเป็นไปตามความต้องการใช้เพื่อการเกษตรกรรมและสาธารณูปโภคเป็นหลัก
ต่อมามีพายุเข้ามาหลายลูกได้แก่ “ไหหม่า” (ปลาย มิ.ย.-ก.ค.) “นกเตน”(ปลาย ก.ค.-ส.ค.) พายุโซนร้อน “ไหถ่าง” และ “เนสาด” (เดือนก.ย.) และ “นาลแก” (เดือน ต.ค.)ทำให้มีฝนตกทั้งบริเวณเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนรวมทั้งพื้นที่ในภาคกลาง เกิดภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง นอกจากนั้นในลุ่มน้ำวังและลุ่มน้ำยมไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่รองรับน้ำ ดังนั้นแม้จะพยายามระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ก็มีข้อจำกัดในการระมัดระวังผลกระทบต่อพื้นที่น้ำท่วมท้ายเขื่อน
กฟผ. ระบุว่า ในปีนี้เขื่อนภูมิพลมีการระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำล้น (Spillway) ระหว่างวันที่ 5 — 13 ต.ค. และ 18 — 20 ต.ค. ส่วนเขื่อนสิริกิติ์มีการระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำล้น ระหว่างวันที่ 25 ส.ค. — 11 ก.ย. 2554
การที่ทั้ง 2 เขื่อนจำเป็นต้องระบายน้ำเพิ่มขึ้นผ่านประตูระบายน้ำล้น นอกเหนือจากการระบายน้ำผ่านการผลิตกระแสไฟฟ้า เนื่องจากขณะนั้นมีปริมาณน้ำใกล้เต็มความจุของอ่างเก็บน้ำ และจากการติดตามข้อมูลปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างฯ ยังมีแนวโน้มที่มีปริมาณสูงอยู่ จึงจำเป็นต้องระบายน้ำออกเพิ่มมากขึ้น เพื่อควบคุมไม่ให้ระดับเก็บกักน้ำเกินความจุของอ่าง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อนและอาคารประกอบ ทั้งนี้ในระหว่างการระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำล้น ก็ได้มีการเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำที่ไหลเข้าอ่างฯ อย่างใกล้ชิด เมื่อพบว่ามีแนวโน้มลดลงก็ให้ลดปริมาณการระบายน้ำ จนปัจจุบันไม่มีการระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำล้นจากเขื่อนทั้งสอง
ปัจจุบัน(29 ต.ค. 54) เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์มีการระบายน้ำออกรวมกันวันละ 53 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นปริมาณน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์เพียงประมาณ 610 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือคิดเป็นร้อยละ 16.7 ของมวลน้ำที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ราว 3,650 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ดังนั้นการระบายน้ำจากทั้งสองเขื่อนจึงไม่ใช่สาเหตุหลักของปัญหาน้ำท่วม ซึ่งน้ำที่ผ่านจังหวัดนครสวรรค์มาจากแม่น้ำหลัก 4 สาย คือ ปิง วัง ยม และน่าน ขณะที่มีเขื่อนขนาดใหญ่กั้นอยู่เพียง 2 สาย คือ แม่น้ำปิงและน่าน ปริมาณน้ำส่วนที่เหลือจึงมาจากแม่น้ำยมและวัง รวมทั้งน้ำที่ค้างอยู่ตามทุ่งไหลลงมา ซึ่งมีปริมาณรวมถึงร้อยละ 83.3 ของน้ำที่ผ่านจังหวัดนครสวรรค์ แล้วไหลสู่กรุงเทพฯและปริมณฑลไปรวมกับมวลน้ำที่ยังค้างอยู่ตามไร่นา จากสภาวะน้ำท่วมพื้นที่ภาคกลาง ตั้งแต่ช่วงเดือน ส.ค. — ก.ย. ทำให้มวลน้ำที่หลากเข้าสู่กรุงเทพฯ ยังคงมีปริมาณมาก
นอกจากนี้แล้ว เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ยังช่วยเก็บกักน้ำปริมาณจำนวนมากไว้ในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. เพื่อบรรเทาสภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งแม้ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำทั้งสองเขื่อนมากถึง 10,940 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่มีการระบายน้ำออกรวมกันเพียง 4,915 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยได้เก็บกักน้ำไว้รวมทั้งสิ้น 6,025 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากปริมาณน้ำจำนวนนี้ไม่ได้ถูกเก็บกักไว้ในเขื่อนทั้งสอง จะส่งผลกระทบต่อภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลางมากขึ้น
อย่างไรก็ดี มวลน้ำที่ระบายออกจากเขื่อนทั้งสองจะใช้เวลาเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ประมาณ 2 สัปดาห์ จึงไม่ส่งผลต่อมวลน้ำก้อนใหญ่ที่โอบล้อมกรุงเทพฯอยู่ขณะนี้ ประกอบกับน้ำจากพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางตอนบนก็กำลังมีปริมาณที่ลดลงเป็นลำดับ