นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รมช.คลัง ได้มีนโยบายเร่งด่วนให้กรมธนารักษ์วางแผนป้องกันและแก้ปัญหาเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินอุทกภัยใน14 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยใช้สถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดภาคกลางและกรุงเทพมหานครถือเป็นกรณีศึกษาเพื่อเรียนรู้การบริหารจัดการเรื่องน้ำและจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
โดยพบว่าพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ มีสภาพพื้นที่แต่ละแห่งมีสภาพที่แตกต่างกัน เช่น ที่ลาดชัด เทือกเขา เป็นที่ราบลุ่ม เป็นพื้นที่ราบต่างระดับกัน ซึ่งในแต่ละปีปริมาณน้ำฝนมีมาก เมื่อเกิดอุทกภัยจึงเป็นการท่วมแบบฉับพลัน ปริมาณน้ำไหลสู่ทะเลไม่ทันประกอบกับน้ำทะเลหนุนทำให้น้ำท่วมบ่อยครั้งและรุนแรง แต่จะเป็นการท่วมแบบระยะเวลาสั้นๆประมาณ5-6 ชั่วโมง
กรมธนารักษ์จึงได้ประชุมหารือเพื่อวางมาตรการป้องกันอุทกภัยโดยได้มีแนวทางแก้ปัญหาเป็น 2 ระยะ คือ ระยะสั้น สำรวจที่ดินราชพัสดุที่สามารถจะจัดทำเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว ซึ่งเป็นการบูรณาการกันระหว่างส่วนราชการต่างๆ เช่น ที่จังหวัดสงขลาจัดเตรียมพื้นที่กองบิน 56 จังหวัดตรัง ที่ว่าการอำเภอย่านตาขาว จังหวัดภูเก็ตบริเวณที่องค์การบริหารส่วนตำบลฉลอง เพื่อไว้สำหรับคณะกรรมการบริหารการคลังประจำจังหวัดเพื่อจัดหาถุงยังชีพ เครื่องอุปโภคบริโภค สิ่งของจำเป็น จัดตั้งเป็นศูนย์อำนวยการช่วยเหลือ ผู้ประสบอุทกภัย (Call center) ตลอดถึงการประสานกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ฝึกอาชีพผู้ประสบภัยเพื่อให้สามารถสร้างรายได้หลังออกจากศูนย์พักพิง
ส่วนระยะยาว เนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์ของแต่ละจังหวัดแตกต่างกัน การแก้ปัญหาจะต้องแยกแยะตามสภาพพื้นที่ โดยเบื้องต้นสั่งการให้ธนารักษ์พื้นที่ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดหาที่ดินราชพัสดุไว้สำหรับเป็นพื้นที่รองรับตามโครงการแก้มลิง การสร้างเขื่อน ฝายกั้นน้ำ อ่างเก็บน้ำ ตลอดจนการออกแบบบ้านหรือสิ่งปลูกสร้างให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่โดยสามารถลอยน้ำได้เมื่อเกิดอุทกภัยหรือได้รับความเสียหายน้อยที่สุดและการจัด Zoning การใช้ประโยชน์พื้นที่และการใช้การเกษตรโดยปลูกพืชที่ช่วยยึดดิน
สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญคือ การนำแนวทางตามพระราชดำริโครงการแก้มลิงมาปฏิบัติ โดยขณะนี้ได้สั่งการให้มีการสำรวจพื้นที่ราชพัสดุที่สามารถทำแก้มลิงได้โดยให้มีการบูรณาการและประสานงานระหว่างจังหวัดต่างๆรวมถึงศึกษาพื้นที่ที่จำเป็นต้องเวนคืนมาใช้ในโครงการดังกล่าว นอกจากนี้ยังให้มีการสำรวจพื้นที่สร้างคันกั้นน้ำปรับปรุงแนวถนนเดิม จากนั้นจัดให้มีพื้นที่สีเขียวเพื่อป้องกันกันการขยายตัวของเมืองและแปรสภาพให้เป็นทางระบายน้ำเมื่อมีน้ำหลาก ดำเนินการขุดลอกคูคลอง สร้างสถานที่เก็บน้ำตามจุดต่างๆ โดยพิจารณาจากสภาพพื้นที่ในแต่ละจังหวัด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำเป็นคู่มือเพื่อแจกจ่ายไปยังหน่วยงานต่างๆของกรมธนารักษ์ใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุอุทกภัย และเพื่อเป็นการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจในทิศทางเดียวกันได้เป็นอย่างดี