นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าวว่า ขณะนี้ศูนย์ปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.)และ กรุงเทพมหานคร มุ่งเน้นไปถึงเรื่องการระบายน้ำเพื่อลดระดับน้ำเท่านั้น แต่ก็ยังไม่บรรลุผล กลับมีผลที่ตามมาก็คือปัญหาน้ำเน่าเสีย จากเหตุที่น้ำต้องท่วมขังอยู่หลายวัน นำมาซึ่งขยะพิษและภาวะเจือปนมลพิษต่างๆ ซึ่งหากยังไม่มีการจัดการกับปัญหาก็คือจะเกิดโรคระบาดขึ้น จึงอยากจะเสนอให้ทาง ศปภ.แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาจัดการกับปัญหาน้ำเน่าเสียโดยตรง ควบคู่ไปกับการเร่งระบายน้ำด้วย
ด้านนายแพทย์อนันต์ อริยะชัยพาณิชย์ ประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา กล่าวว่า ในภาวะน้ำท่วมเช่นนี้ ประชาชนจะต้องใช้ชีวิตอยู่กับน้ำ ซึ่งภายในน้ำที่มีเชื้อโรค เช่นโรคฉี่หนู ตนอยากจะฝากไปถึงประชาชน โดยเฉพาะ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ให้ระวังบาดแผลที่จะเกิดขึ้น เพราะแผลที่เกิดจะหายช้ากว่าคนปกติ และอาจจะทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดได้ จึงขอให้ประชาชนเตรียมอุปกรณ์ป้องกันร่างกายอย่างดี และหากพบว่ามีบาดแผลเกิดขึ้นก็ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
ขณะที่นางนิลวรรณ เพชระบูรณิน ประธานคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการสื่อสาร และโทรคมนาคม วุฒิสภา กล่าวว่า การใช้ EM ball จะต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะ EM ball จะมีผลดีต่อการใช้ในพื้นที่บริเวณที่จำกัด เช่น การใช้ในขยะเน่าเสีย แต่การที่นำเอาก้อน EM ball ไปโยนในน้ำท่วมนั้น เป็นการใช้ EM ball ในพื้นที่บริเวณกว้าง ซึ่งก้อน EM ball จะต้องใช้ออกซิเจนในการทำงาน ซึ่งจะกลับกลายเป็นเร่งให้น้ำเน่าเสียมากยิ่งขึ้น