นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวยืนยันว่า กฟผ.ได้ระบายน้ำออกจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ตามแผนการระบายน้ำของคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ที่มีกรมชลประทานเป็นประธาน และอีก 8 หน่วยงานร่วมเป็นกรรมการ ประกอบด้วย กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กรมทรัพยากรน้ำ กรมอุทกศาสตร์ สำนักระบายน้ำ กทม. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
นอกจากนี้ กฟผ. มีการกำหนดแผนการระบายน้ำเป็นรายสัปดาห์และรายวันมาโดยตลอด ซึ่งได้พิจารณาถึงประโยชน์ในการเกษตรกรรม การบรรเทาอุทกภัย และการอุปโภคบริโภค เป็นหลัก ส่วนการผลิตไฟฟ้าเป็นเพียงผลพลอยได้จากการระบายน้ำเท่านั้น
นายสุทัศน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการระบายน้ำ ทางอนุกรรมการฯ จะควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำของแต่ละเขื่อน ซึ่งได้จัดทำจากสถิติทางอุทกศาสตร์ย้อนหลัง 30 — 40 ปี อย่างไรก็ดี กฟผ.จะได้นำข้อมูลน้ำปีนี้ ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ มาปรับปรุงเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป
จากข้อมูลน้ำที่ไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาในเดือน ก.ย. — ต.ค. 54 ซึ่งเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ มีปริมาณน้ำทั้งสิ้น 21,039 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่เขื่อนภูมิพลระบายน้ำในเดือน ก.ย. — ต.ค. 54 จำนวน 2,722 ล้าน ลบ.ม. หรือเท่ากับ 13% ของปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา
ส่วนกรณีที่มีข่าว รมว.พลังงานตำหนิ กฟผ. ที่ไม่ได้เตรียมรับมือกับปริมาณน้ำฝนจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ลำน้ำยม ซึ่งมีปริมาณมากนั้น ทาง กฟผ. ได้ประสานกับทางรัฐมนตรีแล้วทราบว่าอาจเกิดจากความเข้าใจผิดในการสัมภาษณ์ ทาง กฟผ. ได้เรียนข้อมูลให้รัฐมนตรีทราบถึงปริมาณน้ำฝนที่ตกจำนวนมากทั้งบริเวณท้ายเขื่อนและในลุ่มน้ำที่ยังไม่มีระบบชลประทานรองรับ เช่น แม่น้ำยม แม่น้ำวัง ซึ่งมีเพียงเขื่อนขนาดเล็กทางต้นน้ำ รวมทั้งแม่น้ำสะแกกรัง ซึ่งมีปริมาณรวมกันประมาณ 80% ของปริมาณน้ำที่ลงมาในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นต้นเหตุหลักของปริมาณน้ำจำนวนมากที่ท่วมในพื้นที่ภาคกลางและบริเวณกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน การแก้ไขในระยะยาวจึงเสนอให้รัฐบาลพิจารณาถึงการสร้างระบบชลประทานรองรับในลุ่มน้ำดังกล่าว โดยเฉพาะลุ่มน้ำยมซึ่งมีปริมาณน้ำมาก