นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์การฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ(กยอ.) กล่าวว่า คณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องกำลังศึกษาแผนการลงทุนป้องกันปัญน้ำท่วมระยะยาวจากต่างประเทศมาปรับใช้เพื่อป้องกันน้ำท่วมในระยะ 50-100 ปี โดยประเด็นที่น่าสนใจคือ การสร้างทางระบายน้ำ(Flood way) โดยอาจสร้างถนนในพื้นที่ลุ่มทางการเกษตรเหมือนกับเส้นทางมอเตอร์เวย์ ซึ่งในฤดูแล้งจะเปิดถนนให้รถวิ่งได้ แต่ในฤดูฝนจะปิดถนนเป็นช่องระบายน้ำ หรืออาจมีทางรถไฟควบคู่กับมอเตอร์เวย์ด้วย
สำหรับพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมขังอาจต้องพิจารณาออก พ.ร.ฎ.ย้ายชุมชนไปอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัย ซึ่งยังไม่ได้มีข้อสรุป เพราะหากชาวบ้านยังต้องการอยู่ที่เดิมก็ต้องยอมรับกับปัญหาน้ำท่วม ส่วนนิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วมได้ลงทุนไปมากแล้ว หากเปลี่ยนพื้นที่คงลำบาก จึงต้องหาทางช่วยเหลือให้กลับมาผลิตสินค้าได้เหมือนเดิมทดแทนรายได้ที่หายไปในช่วงน้ำท่วม แต่รัฐบาลคงต้องออกมาตรการจูงใจให้ไปตั้งนิคมตามแนวเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก หรือเส้นทางหมายเลข 9 ผ่านพม่า-ไทย-ลาว และเวียดนาม ซึ่งจะใกล้เส้นทางขนส่ง และปลอดภัยจากน้ำท่วม ซึ่งหากยังอยู่ที่เดิมก็อาจได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐน้อยลง
นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาเรื่องผังเมืองการระบายน้ำ และผังการใช้ที่ดินใหม่ทั้งหมด ซึ่งอาจต้องแก้กฎหมายหรือร่างกฎหมายใหม่ คาดว่าในช่วงปีแรกจะเร่งร่างพิมพ์เขียวฟื้นฟูประเทศให้เสร็จ จากนั้นในช่วง 5-6 ปีข้างหน้าจะเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐาน แม้จะเปลี่ยนรัฐบาลก็ต้องเดินหน้าต่อไป เพราะว่าวิกฤตปัญหาครั้งใหญ่เช่นนี้ในต่างประเทศ การเมืองทุกฝ่ายจะต้องร่วมแก้ปัญหาอย่างจริงจัง