พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รอง ผบ.ตร.) กล่าวถึงแนวทางการเข้าไปดูแลสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประชาชนในพื้นที่นอกและในแนวคันบิ๊กแบ็ค โดยยืนยันว่า ผบ.ตร.ให้แนวทางการปฏิบัติงานโดยยึดหลักเจรจาประนีประนอมดูแลความสงบเรียบร้อย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่เข้าไปเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน หลีกเลี่ยงการใช้กำลัง
ส่วนการเจรจาต่อรองเป็นหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง เช่น กรุงเทพมหานคร(กทม.) หรือ กรมชลประทาน ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเน้นการเจรจาอย่างอะลุ้มอะล่วยให้มากที่สุด โดยขอให้ประชาชนเข้าใจการทำงานของตำรวจด้วย
อย่างไรก็ดี สตช.มีแนวคิดจะเข้าไปดูแลประชาชนเหนือแนวคันบิ๊กแบ๊ก เช่น ย่านลำลูกกา จ.ปทุมธานี ที่มีความเดือดร้อนอยู่มากในขณะนี้
รองผบ.ตร. ยืนยันว่า ในช่วงสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาตำรวจไม่ได้เกียร์ว่างหรือหายไปไหน แต่เนื่องจากตำรวจส่วนหนึ่งเป็นผู้ประสบภัย และอาจมีข้อจำกัดด้านเครื่องมือที่เข้าไปช่วยเหลือประชาชน ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีสถานะเป็นผู้ประสบภัยมากกว่า 3 พันครอบครัว ใน 22 จังหวัด ซึ่งคิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 140 ล้านบาท ซึ่งผบ.ตร.มีแนวคิดในการตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประสบอุทกภัยด้วย
พล.ต.อ.เอก ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ(ก.ต.ช.) กล่าวถึงผลการประชุม ก.ต.ช.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า การประชุม ก.ต.ช.ได้มีการนำเสนอร่างยุทธศาสตร์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเป็นแผนการทำงานของตำรวจในอีก 10 ปีข้างหน้า(2554-2564) ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ข้อสังเกตว่าต้องการให้ สตช.ตั้งสมมติฐานปัญหาภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ปัญหาอาชญากรรมโดยการใช้เทคโนโลยี ตลอดจนปัญหาแรงงานข้ามชาติ
ขณะเดียวกัน ต้องการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเตรียมการทำงาน รวมทั้งพัฒนาคุณภาพข้าราชการตำรวจให้มีความเด่นชัด มีการกำหนดตำแหน่งเพื่อเพิ่มความเจริญก้าวหน้าในอาชีพ ซึ่งที่ประชุม ก.ต.ช.วันนี้ได้หารือถึงการเน้นผู้เชี่ยวชาญด้านบุคลากรการแพทย์ โดยเห็นควรจะให้มีการเพิ่มตำรวจที่เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ และกำหนดยศสูงสุดถึงระดับ พล.ต.ท. 2 ตำแหน่ง และระดับ พล.ต.ต.อีก 4 ตำแหน่ง พร้อมทั้งควรวางแผนและปรับปรุงการเติบโตในสายงานด้านอื่นของตำรวจด้วย