"ยงยุทธ"ลั่นเร่งแก้น้ำท่วมกทม.-ปริมณฑล เปิดถนนให้ได้ภายใน 5 ธ.ค.54

ข่าวทั่วไป Thursday November 24, 2011 17:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย พร้อมด้วย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดปริมณฑล 6 จังหวัด คือ ปทุมธานี, นนทบุรี, สมุทรสาคร, สมุทรปราการ, นครปฐม และฉะเชิงเทรา ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้าการระบายน้ำและปัญหาอุปสรรคในการทำงาน

โดยนายยงยุทธ ยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีความขัดแย้งกับ กทม. และยังทำงานประสานงานร่วมกันโดยตลอด และผู้ว่าฯ กทม.ไม่ได้คิดแต่ปกป้องพื้นที่ กทม. แต่ยังคำนึงถึงผลกระทบในปริมณฑลและจังหวัดอื่นๆ ทั้งนี้จะเร่งแก้ปัญหาน้ำรวมทั้งเปิดทางสัญจรให้ได้ก่อนวันมหามงคล 5 ธันวาคมนี้

สำหรับข้อกล่าวหาเรื่องทุจริตจัดซื้อถุงยังชีพนั้น ได้มีการตรวจสอบแล้วไม่พบความผิด แต่สื่อมวลชนไม่เชื่อถือก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานตรวจสอบ คือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาได้รับไปตรวจสอบแล้วขอให้รอผลสรุปอีกในไม่ช้า พร้อมยืนยันว่า การแถลงข่าววันนี้ไม่เกี่ยวกับที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในสัปดาห์นี้ เพราะเป็นขั้นตอนที่ฝ่ายค้านดำเนินการไปแล้ว

ด้าน พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ปัญหาที่สำคัญขณะนี้คือเรื่องน้ำท่วมขัง ซึ่งทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย เป็นพิษ อีกทั้งยุงชุกชุม ซึ่งเป็นปัญหาที่ ศปภ.ได้รับคำร้องเรียนมาจากประชาชนให้ระบายน้ำลงทะเลให้เร็วที่สุด โดยขณะนี้มีกระสอบทรายยักษ์(บิ๊กแบ็ก) ที่ช่วยทำให้ กทม.ชั้นในไม่จมน้ำ จากที่เคยประเมินว่าน้ำอาจท่วมถึง 2 เมตร แต่จากการกั้นบิ๊กแบ็กทำให้คนอยู่เหนือบิ๊กแบ็กถูกน้ำท่วมขัง แต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบของคนที่อยู่ใต้แนวคันบิ๊กแบ็กด้วย

ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กทม.มีภารกิจหลักในการดูกทม. แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ให้ความสนใจกับประชาชนที่อยู่จังหวัดอื่น โดยเฉพาะปริมณฑล เนื่องจาก พ.ร.บ.กทม.ฉบับที่ 28 และคำสั่งนายกฯ ได้กำหนดชัดเจนว่าหน้าที่หลักของผู้ว่าฯ กทม. คือให้กทม.เปิดและปิดประตูระบายน้ำโดยให้อยู่ในระดับที่ไม่ให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนใน กทม.

ดังนั้นภารกิจหลักของตนอยู่ที่ การควบคุมการเปิดปิดประตูระบายน้ำได้แค่ไหน แต่ต้องขับเคลื่อนให้สอดคล้องทั้งระบบ แต่ที่สำคัญ คือการปิดเปิดกว้างหรือไม่จะต้องขึ้นอยู่กับปริมาณต้นน้ำและปลายน้ำว่าจะบริหารจัดการอย่างไรไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ศปภ.และกรมชลประทานให้การสนับสนุนงานของ กทม. แต่ภาพรวมน้ำใน กทม.ยังมีมาก รวมถึงน้ำที่อยู่ทางด้านเหนือของ กทม. แต่ในส่วนของฝั่งธนบุรียังระบายได้ช้า และในส่วนทางตอนเหนือของปทุมธานีได้ลดลงอย่างรวดเร็ว คาดว่าจะคลี่คลายลงได้ ดังนั้นตนคิดว่าระบบที่เป็นอยู่ขณะนี้มีประสิทธิภาพดีมาก ซึ่งอาจจะต้องปรับปรุงในบางส่วน เช่น ย้ายเครื่องสูบน้ำไปในพื้นที่จำเป็น

นายชิดพงษ์ ฤทธิ์ประสาท ผู้ว่าฯ นครปฐม กล่าวว่า ขณะนี้น้ำในพื้นที่มีน้ำท่วมกว่าร้อยละ 80 โดยขณะนี้สามารถบริหารจัดการน้ำได้ อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการน้ำในนครปฐมได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลมาตลอด

นายธีรพัฒน์ แสงจันทร์ ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร กล่าวว่า ขณะนี้ทางจังหวัดได้ควบคุมสถานการณ์น้ำไว้ได้แล้ว โดยยังมีพื้นที่ท่วมบริเวณ อ.อ้อมน้อม และบางส่วนของ ต.ท่าไม้ ซึ่งจะแบ่งพื้นที่เป็น 4 โซนในการระบายน้ำ แต่สิ่งที่จะขอให้ส่วนกลางช่วยเหลือ คือ ขอเครื่องสูบน้ำ 100 เครื่อง เพื่อเร่งกู้เทศบาลอ้อมน้อยต่อไป

นายขจรศักดิ์ สิงห์โตกุล ผู้ว่าฯ ปทุมธานี กล่าวว่า จ.ปทุมธานี เป็นจังหวัดที่มีความเจริญทางอุตสาหกรรม และมีบ้านจัดสรรจำนวนมากและมีราคาแพง ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากปัญหาอุทกภัยครั้งนี้ เมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งเดือน ประชาชนก็คิดว่าน้ำน่าจะลดระดับลง แต่ค่อนข้างผิดหวังเพราะปริมาณน้ำสูงกว่า 1 เมตร ซึ่งประชาชนมาขอพบกับตนเองและได้มีการพูดคุยเจรจากันด้วยดี โดยตนรับปากจะนำเครื่องสูบน้ำมาติดตั้งเพื่อเร่งระบายน้ำ

ส่วนกรณีที่นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ในเฟชบุ๊คเรียกร้องให้ชาวบ้านใน จ.ปทุมธานี ปิดถนน และโทลเวย์ เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมขังยังไม่ได้รับการแก้ไขนั้น เรื่องนี้ต้องให้รัฐบาลหรือผู้มีความรู้การระบายน้ำต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรไม่ให้มีปัญหามวลชน เพราะมีปัญหาเรื่องมวลน้ำอยู่แล้ว ซึ่งคิดว่าจังหวัดสมุทรปราการจะสามารถรับน้ำเพิ่มได้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน แต่จะทำอย่างไรให้น้ำลงมาได้

ด้านนายเชิดศักดิ์ ชูศรี ผู้ว่าฯ สมุทธปราการ กล่าวว่า ขณะนี้จังหวัดสมุทรปราการปลอดภัย 100% แต่ที่สำคัญคือช่วยเร่งระบายน้ำออกทะเล และได้มีการขุดลอกคลองเพื่อระบายน้ำลงทะเลแล้ว นอกจากนี้ยังกำจัดผักตบชวาที่กีดขวางทางน้ำในพื้นที่จนคลองสะอาดทำให้ระบายน้ำได้อย่างดี และพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำที่จะเข้ามาเต็มที่

นายกิตติ ทรัพย์วิสุทธิ์ ผู้ว่าฯ ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ในพื้นที่ยังสามารถรองรับน้ำจากพื้นที่อื่นได้อีก 100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ทำให้นิคมอุตสาหกรรมเวลโกตัดสินใจเดินสายการผลิต โดยการระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วย กทม.ฝั่งลาดกระบังได้

นายพิเชียร พุฒธิภิญโญ ผุ้ว่าฯ นนทบุรี กล่าวว่า ยังมีน้ำท่วมขังอีก 380 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งการระบายน้ำออกแม่น้ำท่าจีน และเจ้าพระยาทำได้เพียงวันละ 38 ล้าน ลบ.ม. แต่หลังจาก กทม. เปิดประตูระบายน้ำเพิ่มเป็น 1 เมตร ทำให้ระบายน้ำได้เป็นวันละ 45 ล้าน ลบ.ม. โดยคาดว่าจะใช้เวลา 19 วันในการระบายน้ำออก และขอสนับสนุนเครื่องสูบน้ำอีก 200 เครื่อง และขณะนี้กำลังทำหนังสือไปยังกรมทางหลวงชนบทเพื่อกู้ถนนให้สามารถสัญจรได้

ขณะที่นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า รัฐบาลได้จัดหาเครื่องสูบน้ำได้กว่า 1,700 เครื่อง เพื่อแจกจ่ายไปยังพื้นที่ประสบอุทกภัยในจังหวัดต่างๆ ให้เร่งระบายน้ำแล้ว โดยมีขนาด 8 นิ้ว 10 นิ้ว และ 12 นิ้ว

ด้านนายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ต้องมีการพิจารณาการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำในฝั่งตะวันออกได้แล้ว เพราะสถานการณ์อยู่ในขั้นปลอดภัย และควรพิจารณาย้ายเครื่องสูบน้ำไปยังฝั่งตะวันตก เพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่

ส่วนนายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญทางด้านน้ำ กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์ ขณะนี้ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำได้เลยทันที และให้ผู้ว่าฯ ปทุมธานีเชิญประชาชนช่วยกันซ่อมแซมคันกั้นน้ำให้แข็งแรง ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถลดปริมาณน้ำในจังหวัดปทุมธานีได้ และหากไม่ดำเนินการหรือดำเนินการไม่สำเร็จจะต้องใช้เวลาอีกยาวนานกว่าจะดำเนินการได้

ทั้งนี้ จะต้องมีการปรับเปลี่ยนการทำงานของคณะกรรมการให้มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง ทั้งเรื่องของปริมาณ และคุณภาพน้ำ ซึ่งต้องมีการประชุมทุกๆ 3-4 วัน เพื่อที่จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์สถานการณ์ได้ถูกต้องแม่นยำ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ