นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของหน่วยปฏิบัติการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ อ.บางกรวย และบางบัวทอง จ.นนทบุรี ว่า ขณะนี้กรมชลประทานได้ร่วมกับองค์การบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่นแบ่งพื้นที่ จ.นนทบุรีออกเป็น 30 บล๊อคย่อยโดยใช้ถนนกาญจนาภิเษก และถนนสาย 346 เป็นคันกั้นน้ำ เพื่อให้การสูบน้ำท่วมขังในแต่ละจุดของจังหวัดนนทบุรี มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งในการวางแผนการระบายน้ำนั้นกรมชลประทานจะประสานงานร่วมกับส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ร่วมกันทำงานในการบอกจุดและแบ่งบล๊อกเพื่อการปฏิบัติงานสูบน้ำออกที่ท่วมขัง
ขณะเดียวกัน กรมชลประทานจะสนับสนุนนำเครื่องมือต่างๆ และเครื่องสูบน้ำ เพื่อเร่งสูบน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านคลองในบริเวณใกล้เคียง เช่น คลองบางกรวย และคลองบางกอกน้อย เป็นต้น ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะส่งผลทำให้ในราวต้นเดือนธันวาคมนี้ถนนสายต่างๆที่เป็นเส้นทางสัญจรในพื้นที่จ.นนทบุรี น่าจะเข้าสู่ภาวะปกติได้ ส่วนการกลับเข้าบ้านเรือนของประชาชนก็น่าจะประมาณต้นเดือน มกราคมนี้
สำหรับปริมาณน้ำในฝั่งทิศตะวันตกของเจ้าพระยาขณะนี้ ยังมีน้ำไหลเข้าเพิ่มประมาณ 17 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน ขณะที่การระบายน้ำออกอยู่ที่ประมาณ 60-70 ลูกบาศก์เมตร/วัน ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่กรมชลประทานวางไว้ แต่ทั้งนี้ในฝั่งตะวันตกยังมีน้ำค้างทุ่งขณะนี้ 2,200 ล้านลูกบาศก์ และคลองมหาสวัสดิ์มีปริมาณที่ลดลงประมาณ 2-3 เซนติเมตร/วัน ถือว่าลดลงในสัดส่วนที่น้อยมาก เนื่องจากน้ำทิศตะวันตกมีปริมาณที่มากจนไม่รู้ว่าจะระบายออกในส่วนใดต้องแก้ไขเป็นจุดๆ ซึ่งในเบื้องต้นกรมชลประทานใช้วิธีการชะลอน้ำไว้ที่เขื่อนเจ้าพระยาก่อน โดยจะปล่อยน้ำเพียง 1,500 ลูกบาศก์/วินาทีเท่านั้น เพื่อไม่ให้มวลน้ำที่ยังมีอยู่จำนวนมากไหลทะลักเข้าฝั่งทิศตะวันตกมากเกินไป รวมทั้งได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและหนุนคันกั้นน้ำขึ้นในแต่ละจุด ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพไหลออกประมาณ 30-40 % จากปกติ