นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงความก้าวหน้าของแผนการกู้ชุมชนบริเวณหมู่บ้านเมืองเอก ตามที่นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต มีหนังสือขอสนับสนุนเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่เพื่อสูบน้ำออกจากพื้นที่ว่า กรมชลประทานได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่บริเวณประตูระบายน้ำคลองเปรมใต้ จำนวน 7 เครื่องเป็นเครื่องสูบน้ำขนาด 3 ลบ.ม./วินาที 2 เครื่อง เครื่องสูบน้ำขนาด 24 นิ้ว 1 เครื่องและเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้วและ 10 นิ้วอย่างละ 2 เครื่อง
กรมฯ เริ่มสูบน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาผ่านทางคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2554 สามารถระบายน้ำที่ท่วมขังออกจากพื้นที่ได้ประมาณวันละ 600,000 ลูกบาศก์เมตร ทำให้ระดับน้ำที่ท่วมขังลดลงประมาณวันละ 8 เซนติเมตร โดยจากเดิมระดับน้ำในพื้นที่ดังกล่าวสูงประมาณ 2.43 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) หลังจากที่กรมชลประทานได้ดำเนินการสูบตลอด 24 ชั่วโมง ขณะนี้ (30 พ.ย. 54 เวลา 09.00 น.) ระดับน้ำลดลงเหลืออยู่ที่ระดับ 2.17 ม. รทก. ซึ่งจากเดิมพื้นที่ดังกล่าวมีน้ำท่วมสูงสูดอยู่ที่ระดับ 3.40 ม. รทก. (31 ตุลาคม 2554) โดยภาพรวมระดับน้ำลดลงทั้งหมดกว่า 1 เมตร อย่างไรก็ตามกรมฯยังคงสูบน้ำจนกว่าสถานการณ์น้ำในพื้นที่ดังกล่าวจะเข้าสู่ภาวะปกติ
อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวด้วยว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำในภาพรวมลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ดียังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นที่ลุ่มต่ำที่มีปัญหาน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายออกได้ กรมฯ ได้เตรียมความพร้อมทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกลต่าง ๆ ไว้ให้ความช่วยเหลือในการเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในแหล่งชุมชน โดยเมื่อได้รับการประสานงานจากส่วนราชการส่วนท้องถิ่นหรือเทศบาลต่าง ๆ ก็จะดำเนินการสำรวจสภาพพื้นที่และน้ำที่ท่วมขัง พร้อมประชุมกำหนดแนวทางร่วมกับหน่วยงานส่วนท้องถิ่นในแต่ละชุมชน
กรมฯ ได้สนับสนุนจัดหากระสอบทรายสำหรับใช้เสริมความแข็งแรงของแนวคันกั้นน้ำพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด โดยในการติดตั้งเครื่องสูบน้ำในแต่ละจุดจะต้องสอดคล้องกับทิศทางการไหลของน้ำโดยไม่ให้เกิดผลกระทบหรือมีผลต่อพื้นที่ใกล้เคียงน้อยที่สุด