นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการบริหารจัดการทรัพยาน้ำ(กยน.) เปิดเผยว่า วันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการร่วม 2 ฝ่าย ระหว่าง กยน. และ คณะกรรมการเพื่อการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (กฟย.) ได้หารือถึงการบริหารจัดการน้ำโดยมีมติให้จัดทำมาสเตอร์แพลน แผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาว ให้เสร็จภายใน 2 สัปดาห์ และนำกลับมาเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่ารัฐบาลมีความจริงจังและจริงใจในการแก้ไขปัญหาน้ำ
โดยหลักการสำคัญของแผนดังกล่าว ประกอบด้วย 6 ข้อ 1.แนวทางการแก้ไขเรื่องวิศวกรรม และการก่อสร้าง โดยเฉพาะพื้นที่ หรือถนนที่เป็นเส้นทางปิดกั้นเส้นทางน้ำ เพื่อปรับปรุงแก้ไขภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า 2.ระบบข้อมูลและการพยากรณ์ โดยจะร่วมกับไจก้า ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี อันจะช่วยสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในการพยากรณ์ปริมาณน้ำ โดยจะเริ่มตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป เพื่อให้การพยากรณ์มีความแม่นยำหรือใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด
3.ศึกษาพื้นที่รับน้ำ หน่วงน้ำ รวมทั้งแนวทางการช่วยเหลือชดเชยในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่รับน้ำ และให้กำหนดพื้นที่ให้ชัดเจนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ 4.แผนพัฒนาพื้นที่ 3 แหล่งใหญ่ คือ นิคมอุตสาหกรรม, แหล่งชุมชน และ กทม. โดยให้ศึกษาอย่างครบวงจรว่าพื้นที่ใดเหมาะแก่การรับน้ำ พร่องน้ำสู่ทะเลได้เร็ว รวมทั้งการศึกษาผังเมืองและการใช้ที่ดินให้เป็นประโยชน์อย่างชัดเจน
5.ให้องค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำในระยะยาวไปศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบริหารน้ำในภาวะฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพ 6.ศึกษาแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการต่างๆ ให้ชัดเจน เพื่อจะได้กำหนดงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ โดยเงินงบประมาณให้หารือกับสำนักงบประมาณด้วยว่าต้องใช้เม็ดเงินจำนวนเท่าใด
นอกจากนี้ยังแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฟื้นฟูป่าไม้ และต้นน้ำ โดยมี ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เป็นประธาน และมีนายสุเมธ ตันติเวชกุล เป็นที่ปรึกษา เพื่อให้การทำงานสอดคล้องกับมาสเตอร์แพลน
นายอาคม กล่าวต่อว่า วันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในระยะ 6 เดือนหน้านี้ ซึ่งตรงกับเดือน พ.ค.55 ที่เป็นช่วงฤดูฝน โดยให้ศึกษาการรับมือกับปริมาณฝน รวมถึงการบริหารจัดการที่ดีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำ