In Focusย้อนดูชีวิตและนาทีสุดท้ายของ 3 คนดังผู้จากไปในปีนี้

ข่าวต่างประเทศ Wednesday December 7, 2011 14:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปีกระต่ายกำลังจะผ่านไป ปีใหม่กำลังจะมาบรรจบอีกครั้ง เมื่อเรามองย้อนกลับไปตลอดปี 2554 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามีเหตุการณ์สำคัญๆเกิดขึ้นมากมายในเวทีโลก แต่เหตุการณ์ที่เด่นชัดอยู่ในความรู้สึกดูเหมือนจะเป็น “การจากไป" ของบุคคลดังระดับโลกหลายคนในปีนี้ In Focus รวมบุคคลเด่นส่งท้ายปีจึงขอกล่าวถึงการเสียชีวิตของ 3 คนดัง ที่บ้างก็จากไปพร้อมคำสรรเสริญ บ้างก็จากไปพร้อมกับคำสาปแช่ง

“บินลาเดน" ผู้ถูกปลิดชีพด้วยน้ำมือ “อารยประเทศ"

อุซามะ บินลาเดน เป็นชื่อที่ทุกคนทั่วโลกจดจำได้ขึ้นใจ หลังเกิดเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมที่สหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 จนทำให้มีผู้เคราะห์ร้ายต้องจบชีวิตลงกว่า 3,000 คน และนับตั้งแต่นั้นมาบินลาเดนก็ถูกไล่ล่าอย่างหนัก จนเวลาล่วงเลยไปเกือบ 10 ปี ในค่ำคืนก่อนเช้าวันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม 2554 ณ เมืองอับบอตตาบัดทางตอนเหนือของกรุงอิสลามาบัด เมืองหลวงของปากีสถาน บินลาเดนก็ถูกสหรัฐสังหารในที่สุด

หลังแกะรอยมานานหลายปี ในที่สุดหน่วยข่าวกรองสหรัฐก็รู้แหล่งกบดานของคนที่สหรัฐต้องการตัวมากที่สุด โดยในเดือนสิงหาคม 2553 คนส่งข่าวประจำตัวคนหนึ่งของบินลาเดนได้พาเจ้าหน้าที่สหรัฐไปยังแหล่งกบดานในเมืองอับบอตตาบัด ซึ่งเป็นบ้านหลังใหญ่ที่มีอาณาเขตกว้างขวาง และมีการรักษาความปลอดภัยอย่างหนาแน่น จากนั้นปลายเดือนเมษายน 2554 ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐ ได้มีคำสั่งอนุมัติแผนปฏิบัติการสังหาร

ปฏิบัติการดังกล่าวเริ่มเมื่อเวลาประมาณ 1.15 น. ของวันที่ 2 พฤษภาคมตามเวลาท้องถิ่นในปากีสถาน เฮลิคอปเตอร์ 2 ลำได้นำหน่วยรบพิเศษไปยังบ้านพักเป้าหมาย หน่วยรบทีมหนึ่งบุกเข้าไปในบ้านของบินลาเดน จนพบผู้นำกลุ่มอัลกออิดะห์บริเวณชั้น 3 ของบ้าน เขาพยายามต่อต้านแม้ไม่มีอาวุธในมือ เจ้าหน้าที่สหรัฐจึงยิงกระสุน 2 นัดที่ศีรษะและหน้าอกของเขาจนเสียชีวิตคาที่

สหรัฐนำศพของเขาขึ้นไปประกอบพิธีทางศาสนาบนดาดฟ้าเรือบรรทุกเครื่องบินคาร์ล วินสัน โดยศพได้รับการชำระล้าง นำไปห่อผ้าขาวและถุงบรรจุศพที่มีการถ่วงน้ำหนัก มีการอ่านบทไว้อาลัยเป็นภาษาอาหรับ ก่อนทิ้งร่างลงทะเล จุดจบของผู้ก่อการร้ายที่ยิ่งใหญ่ช่างน่าอนาถใจ ไม่มีประเทศใดเลยที่แสดงความเต็มใจรับศพของเขาไปฝังในผืนแผ่นดิน

เวลา 23.35 น. ของวันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคมตามเวลากรุงวอชิงตันดีซี (ตรงกับช่วงสายวันจันทร์ตามเวลาประเทศไทย) ประธานาธิบดีโอบามาประกาศยืนยันการเสียชีวิตของบินลาเดน ผู้คนทั่วโลกเกิดความรู้สึกหลายอย่างระคนกัน บ้างก็ดีใจที่ความยุติธรรมบังเกิด บ้างก็หวั่นใจเมื่อนึกถึงคำกล่าวที่ว่า “ตายหนึ่งเกิดแสน" ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะกังวล เพราะหลังจากนั้นเพียงหนึ่งเดือน กลุ่มอัลกออิดะห์ก็ได้ผู้นำคนใหม่คือ นายไอมาน อัล-ซาวาฮีรี วัย 60 ปี ซึ่งเป็นถึงศัลยแพทย์จักษุที่ถือกำเนิดในครอบครัวเศรษฐีชาวอียิปต์ และการก่อการร้ายยังคงดำเนินต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

การที่บินลาเดนก่อการร้ายสังหารผู้บริสุทธิ์ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องอย่างแน่นอน แต่ถ้ามองย้อนไปตั้งแต่ต้น จะเห็นได้ว่าชนวนความแค้นของเขาเกิดขึ้นเพราะต้องการปกป้องประเทศของตนเองจากการรุกคืบเข้ามาของประเทศมหาอำนาจ บินลาเดนเลือกตอบโต้ด้วยความรุนแรง ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง ทำให้ตกเป็นจำเลยสังคม และภาพลักษณ์ที่เลวร้ายดังกล่าวทำให้ไม่มีใครสนใจต้นสายปลายเหตุที่แท้จริง หากเขาเลือกตอบโต้ด้วยสันติวิธี คงไม่มีจุดจบเช่นนี้ และเมื่อผู้ชนะเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์ บินลาเดนก็กลายเป็นผู้ก่อการร้ายที่ทั่วโลกเกลียดชังที่สุดไปโดยปริยาย

ปิดฉาก “กัดดาฟี" ผู้นำที่ครองอำนาจยาวนานที่สุดในโลก

“การปฎิวัติดอกมะลิ" หรือการลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้านผู้นำหลายประเทศในภูมิภาคแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง เปิดฉากขึ้นที่ประเทศตูนิเซีย (ซึ่งมีดอกมะลิเป็นดอกไม้ประจำชาติ) เป็นประเทศแรก จากนั้นก็ลุกลามไปถึงเยเมน ซูดาน จอร์แดน อียิปต์ และในที่สุดก็ไปถึงลิเบีย ประเทศเล็กๆซึ่งปกครองโดยพันเอกมูอัมมาร์ กัดดาฟี วัย 69 ปี ผู้นำที่ครองอำนาจยาวนานที่สุดในโลก

พันเอกกัดดาฟีขึ้นสู่อำนาจเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2512 จากการก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากกษัตริย์ไอดริส เขาปกครองลิเบียตั้งแต่นั้นมาจนถึงปี 2554 นับเป็นเวลานานถึง 42 ปี แรกเริ่มเดิมทีกัดดาฟีก็เป็นผู้นำที่ดี ทำประโยชน์มากมายให้กับประเทศ ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจ ลดเงินเดือนรัฐมนตรี ลดค่าครองชีพให้กับคนจน ช่วยให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น ฯลฯ แต่นานวันเข้าก็เริ่มเสพติดอำนาจ ใช้อำนาจสร้างความมั่งคั่งให้ตนเองและพวกพ้อง มีการทุจริตกันอย่างมโหฬาร แต่ประชาชนยังอดอยากแร้นแค้น จนกระทั่งกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ชาวลิเบียที่อัดอั้นตันใจมานานและถูกกระตุ้นด้วยกระแสต่อต้านผู้นำในหลายประเทศ ได้ลุกฮือขึ้นมาชุมนุมประท้วงเพื่อยุติระบอบการปกครองของกัดดาฟี

หากกัดดาฟีคิดได้และยอมสละอำนาจแต่โดยดีก็คงไม่มีการนองเลือด แต่โชคร้ายที่เขาตัดสินใจเข่นฆ่าประชาชนจนก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างผู้สนับสนุนกัดดาฟีกับกองกำลังกลุ่มต่อต้านซึ่งมีชื่อว่าสภาถ่ายโอนอำนาจ หรือ เอ็นทีซี สถานการณ์การสู้รบดำเนินต่อไปอีกหลายเดือน แต่กองกำลังเอ็นทีซีที่ได้รับการยอมรับจากหลายประเทศถือไพ่เหนือกว่าเพราะได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติ ฝ่ายเอ็นทีซีรุกคืบเข้ายึดพื้นที่สำคัญๆ ขณะที่ฝ่ายกัดดาฟีค่อยๆถอยร่นและแตกพ่ายไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันที่ 20 ตุลาคม 2554 ขบวนรถของกัดดาฟี ซึ่งกำลังหลบหนีออกจากเมืองเซิร์ต เมืองบ้านเกิดและฐานที่มั่นสุดท้ายของเขา ถูกเครื่องบินรบฝรั่งเศสของกองกำลังนาโตโจมตี กัดดาฟีต้องหนีหัวซุกหัวซุนลงไปซ่อนตัวในท่อระบายน้ำใต้พื้นถนน แต่ก็ไม่พ้นเงื้อมมือของกองกำลังเอ็นทีซี ผู้คุ้มกันกัดดาฟีถูกสังหารหมด ส่วนเจ้าตัวถูกจับกุม และในที่สุดก็ถูกกระสุนปืนเจาะเข้าที่ขมับซ้ายเสียชีวิตอย่างน่าอนาถ

การที่กัดดาฟีต้องพบจุดจบอย่างหมดรูปเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการกระทำที่ไม่ดีของตัวเอง อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะลิเบียมีทรัพยากรน้ำมันมหาศาลมากพอที่จะสูบขึ้นมาได้นานถึง 80 ปี และกัดดาฟีก็ขัดขวางไม่ให้บรรดาประเทศมหาอำนาจเข้ามายุ่มย่าม นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้หลายประเทศสนับสนุนให้ชาวลิเบียโค่นล้มกัดดาฟี ด้วยหวังว่าจะได้เข้าถึงแหล่งน้ำมันได้ง่ายขึ้น และแน่นอนว่าขาประจำอย่างสหรัฐอเมริกาก็เป็นผู้สนับสนุนหลักในงานนี้

แม้จะเป็นผู้นำเผด็จการที่ถูกรังเกียจจากคนทั่วโลก แต่อย่างน้อยกัดดาฟีก็ยังหวงแหนในทรัพยากรของประเทศชาติ ซึ่งในอนาคตประชาชนชาวลิเบียก็ยังมีโอกาสได้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้ แต่เมื่อกัดดาฟีหมดลมหายใจไปแล้ว ลิเบียคงหนีไม่พ้นถูกบรรดาชาติมหาอำนาจรุมทึ้งแย่งน้ำมันกันอย่างสนุกสนาน อนาคตของลิเบียจะออกหัวหรือก้อยคงต้องดูกันต่อไป แต่อนาคตของชายชื่อกัดดาฟีไม่มีอีกแล้ว ชีวิตของเขาปิดฉากลงพร้อมกับถูกตราหน้าว่าเป็น “ทรราช"

โลกอาลัย “สตีฟ จ๊อบส์" ศาสดาแห่งไอที

คอไอทีทั่วโลกคงไม่มีใครไม่รู้จัก สตีฟ จ๊อบส์ ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตซีอีโอบริษัทแอปเปิลอันโด่งดัง ผู้ได้รับการเรียกขานในหมู่สาวกไอทีว่า “ศาสดา"

จ๊อบส์ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท แอปเปิล คอมพิวเตอร์ เมื่อปี 2519 ในเมืองคูเปอร์ติโน รัฐแคลิฟอร์เนีย ก่อนที่เขาจะลาออกจากทีมผู้บริหารของแอปเปิลในปี 2527 และได้ก่อตั้งบริษัทพัฒนาแพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์แห่งใหม่ที่มีชื่อว่าเน็กซ์ (NeXT) จนกระทั่งปี 2539 แอปเปิลได้ควบรวมกิจการกับเน็กซ์ ทำให้จ๊อบส์หวนกลับมาร่วมงานกับแอปเปิลอีกครั้ง พร้อมนั่งเก้าอี้ซีอีโอของแอปเปิลตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา

การกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ของจ๊อบส์นำพาให้แอปเปิลพบกับยุคสมัยแห่งความรุ่งโรจน์ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมสุดๆทั่วโลก ทั้ง iPod, iPhone และ iPad นอกจากผลิตภัณฑ์หลักๆที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว แอปเปิลยังมีซอฟต์แวร์เด่นๆ อย่างระบบปฏิบัติการ Mac OS X ไปจนถึง QuickTime media player, Safari และบริการต่างๆ ทั้ง App Store, iTunes, iBooks และ MobileMe

ในปี 2552 บุรุษผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแอปเปิลได้รับเลือกให้เป็น "ซีอีโอแห่งทศวรรษ" จากนิตยสารฟอร์จูน และไฟแนนเชียลไทม์สได้ยกย่องให้เขาเป็นบุคคลแห่งปีประจำปี 2553 โดยให้เหตุผลว่า ชายผู้นี้คือร็อคสตาร์ดวงแรกแห่งโลกไอที

ท่ามกลางอนาคตอันรุ่งโรจน์ บุรุษผู้นี้กลับประสบปัญหาด้านสุขภาพอย่างหนัก ในเดือนสิงหาคม 2547 เขาต้องเข้ารับการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งตับอ่อน เขาได้ต่อสู้กับโรคร้ายอย่างกล้าหาญ จนกระทั่ง 7 ปีให้หลัง ในเดือนสิงหาคม 2554 จ๊อบส์ได้ยื่นจดหมายลาออกจากตำแหน่งซีอีโอ และในวันที่ 5 ตุลาคม 2554 คณะผู้บริหารของแอปเปิลออกแถลงการณ์ยืนยันว่า สตีฟ จ๊อบส์ ได้เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 56 ปี โดยเขาจากไปอย่างสงบท่ามกลางครอบครัวอันเป็นที่รัก

ก่อนหน้าที่เขาจะเสียชีวิตเพียงหนึ่งวัน แอปเปิลเพิ่งเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ล่าสุดนาม iPhone 4S แฟนพันธุ์แท้ของแอปเปิลจึงเชื่อว่าการเปิดตัว “iPhone 4S" นั้น มีความหมายว่า “iPhone for Steve"

การจากไปก่อนวัยอันควรของจ๊อบส์ได้สร้างความเสียใจและตกตะลึงให้แก่คนทั่วโลก เนื่องจากจ๊อบส์เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่าอย่างประมาณมิได้ และนับได้ว่าเป็นผู้เปลี่ยนโลกคนหนึ่งเลยทีเดียว แม้ชายชื่อสตีฟ จ๊อบส์ จะไม่ได้อยู่สร้างสรรค์ผลงานชิ้นใหม่ๆ แต่สิ่งที่เขาทำไว้ให้โลกนี้จะเป็นที่จดจำตลอดไป

การจากไปของบุคคลสำคัญทั้งสามทำให้นึกถึงบทพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งเราคุ้นเคยกันดี ที่ว่า “พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา"

วัวควายและช้าง เมื่อตายแล้วยังเหลือเขาและงาเป็นประโยชน์กับโลก ส่วนคนเราเมื่อตายแล้ว สิ่งที่เหลือไว้ให้โลกจดจำคือ “ความดี" และ “ความชั่ว" เท่านั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ