ก.วิทย์ฯ เผยยังมีมวลน้ำค้างในภาคกลางตอนบน-กทม.ราว 8 พันล้านลบ.ม.

ข่าวทั่วไป Wednesday December 7, 2011 15:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(สทอภ.) สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า มวลน้ำล่าสุดยังคงค้างในพื้นที่ภาคกลางตอนบนจนถึงกรุงเทพมหานคร(กทม.) ประมาณ 8,000 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) โดยครึ่งหนึ่งค้างอยู่ในทุ่งที่ต้องเก็บไว้ในการทำการเกษตร และอีกส่วนไหลลงมาตามลำคลองในระบบ

"ในการคำนวณมวลน้ำใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเป็นหลัก และคาดการณ์ความลึกของน้ำจากสถานีวัดระดับน้ำของกรมชลประทาน โดยยอมรับว่าอาจมีความผิดพลาดบ้าง และเราได้รับบทเรียนจากการทำงานในครั้งนี้ ซึ่งได้มีการพูดคุยกับกรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน เพื่อให้ในปี 55 มีการทำงานร่วมกันเพื่อให้มีการประเมินได้ดีขึ้น"นายอานนท์ กล่าว

ล่าสุด ขณะนี้น้ำส่วนใหญ่ในฝั่งตะวันออกของ กทม.ลดลงเกือบทั้งหมดแล้ว และเมื่อวันที่ 12 พ.ย.ซึ่งเป็นวันน้ำท่วม กทม.และปริมณฑลรุนแรงที่สุดในพื้นที่ 2.7 ล้านไร่ แต่ตอนนี้เหลือเพียงประมาณ 1 ล้านไร่ เท่ากับว่าผ่านไปประมาณ 1 เดือนสามารถลดปริมาณน้ำได้เป็นจำนวนมาก โดยพื้นที่ยังท่วมส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาและทุ่ง โดยเฉพาะฝั่งตะวันตก ขณะที่ฝั่งตะวันออกเหลือพื้นที่น้ำท่วมน้อยมาก เพราะสามารถระบายน้ำออกทางแม่น้ำบางปะกงได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้

"ปีนี้ฝั่งตะวันตกเป็นปีที่เคยมีน้ำมากกว่าที่เคยมีเป็นประวัติการณ์ และน้ำจำนวนมากที่เข้ามากนั้นเกินระบบศักยภาพของคูคลองที่จะรับได้ ทำได้เฉพาะหน้าแค่การใช้ระบบสูบน้ำเพิ่มเติมเท่านั้นเพราะระบบประตูระบายน้ำและคันกั้นน้ำไม่สมบูรณ์ทำให้การจัดการน้ำฝั่งดีทำได้ไม่มีเท่ากับฝั่งตะวันออก ดังนั้น ระยะยาวคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ(กยน.) ต้องมีการจัดวางโครงสร้างการจัดการทำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกและตะวันออกใหม่" นายอานนท์ กล่าว

นายอานนท์ คาดว่าในระยะยาวหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมได้คลี่คลายแล้วจะทำให้เกิดกรณีที่ประชาชนจำนวนมากต่างคนต่างสร้างพนังกั้นน้ำและถมที่ดินให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันน้ำท่วม ซึ่งในส่วนนี้ กยน.กำลังจะมีมาตรการระยะเร่งด่วนเพื่อให้การดำเนินการที่มีมาตรฐานเพื่อมากำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินการโดยจะยึดตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมเป็นหลักนอกจากนี้จะใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมเข้ามาร่วมตรวจสอบด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ