ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวถึงโครงการปฏิบัติการจัดการขยะเพื่อฟื้นฟูชุมชน กทม.(Big Recycle) ว่า ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนริเริ่มการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ เพื่อลดภาระในการจัดเก็บและฝังกลบ ณ จุดปฏิบัติการคัดแยกขยะ ถนนพุทธมณฑล สาย 1 เขตภาษีเจริญ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มในการสร้างวัฒนธรรมของสังคมไทยในการคัดแยกและจัดการขยะอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน
โดยโครงการดังกล่าวมีแผนการจัดการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางอย่างเป็นระบบ เริ่มจากการส่งเสริมการจัดการขยะในครัวเรือนที่น้ำเริ่มลด แบ่งเป็น ขยะรีไซเคิล ขยะอินทรีย์ ขยะมีพิษ แล้วนำขยะที่คัดแยกแล้วไปทิ้ง ณ จุดทิ้งขยะแต่ละประเภทตามที่ได้แยกไว้ เช่น สถานีพักขยะระดับชุมชน ลานขยะอินทรีย์ ธนาคารขยะ และขยะมีพิษ สำหรับขยะชิ้นใหญ่จะขนไปที่ลานตากและย่อยสลาย เพื่อทำการแยกชิ้นส่วนก่อนที่จะถูกนำไปใช้ เป็นเชื้อเพลิงหรือเป็นวัสดุอื่นๆ ต่อไป โดยจะมีการประสานกับภาคเอกชนจัดรถบรรทุกบริการขนถ่ายในถนนสายสำคัญ และจากจุดรวมขยะของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้เมื่อต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมาได้ทดลองนำโครงการฯ ดังกล่าวมาใช้ในพื้นที่เขตภาษีเจริญ ซึ่งหลังการดำเนินการเพียง 2 วัน พบว่าสามารถคัดแยกขยะรีไซเคิล เช่น เฟอร์นิเจอร์ไม้ได้มากถึง 20 ตัน ลดปัญหาขยะตกค้างของพื้นที่ต่างๆ มีประสิทธิภาพรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
โดยกิจกรรมดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานเขตภาษีเจริญ บางแค หนองแขม ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา บางพลัด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ไทยพีบีเอส มูลนิธิเอสซีจี กองทัพภาคที่ 1 กองพลทหารราบที่ 9 ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย ร.19 พัน 2 โรงเรียนเซนต์ปีเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยสยาม วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม วิทยาลัยพณิชยการธนบุรี วิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม วิทยาลัยพณิชยการเชตุพน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เครือข่ายและชุมชนการจัดการขยะเขตภาษีเจริญ
ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ในภาวะปกติกรุงเทพฯ มีขยะรวมกันมากถึง 8,500 ตันต่อวัน ซึ่งเต็มขีดความสามารถของระบบการกำจัดขยะแล้ว แต่ในสภาวะหลังน้ำลดมีขยะในพื้นที่น้ำท่วมอาจเพิ่มขึ้นกว่า 20 เท่า หากใช้ระบบการจัดเก็บแบบปกติและไม่ได้รับความร่วมมือจากภายนอกแล้ว อาจต้องใช้เวลาในการจัดเก็บนานนับเดือนแม้จะเพิ่มรอบและปริมาณรถจัดเก็บแล้วก็ตาม เนื่องจากขยะดังกล่าวมีปริมาณสูงกว่าขีดความสามารถในการจัดเก็บและฝังกลบอยู่มาก แต่ทั้งนี้ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดเก็บขยะโดยด่วน ซึ่งตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธ.ค. นี้
ส่วนปัญหาขยะที่มีปริมาณมากจนรถที่ กทม.เช่ามาเก็บขนขยะนั้นมีปริมาณไม่เพียงพอ เพราะช่วงนี้ทุกพื้นที่มีความจำเป็นต้องใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่ในการจัดเก็บขยะเหมือนๆ กัน อีกทั้งยังห่วงว่าหลังจากที่มีการจัดเก็บไปแล้วจะยังคงมีประชาชนนำขยะมาทิ้งเพิ่มเติมอีก
โดยช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าปริมาณการจัดเก็บลดลงจากช่วงที่ผ่านมาเฉลี่ยวันละ 11,000 ตัน จากสถิติสูงสุดเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.54 จำนวน 13,643 ตัน โดย กทม.ได้ระดมกำลังจัดเก็บขยะอย่างเต็มที่ ขณะที่กำลังเสริมจากภาคส่วนอื่นๆ อาทิ จังหวัดคู่ที่เข้ามาช่วยเหลือเริ่มถอนกำลังกลับบ้างแล้วแต่ยังมีขยะตกค้างจำนวนมาก และพบปัญหาขาดรถบรรทุกขยะขนาดใหญ่ รถดัมพ์ รถตัก ที่ประชุมผู้บริหารฯ จึงมีมติให้สำนักงานเขตจัดจ้างรถเอกชนเข้าดำเนินการ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการทำงาน พร้อมทั้งเร่งจัดเก็บขยะให้หมดก่อนปีใหม่ เพื่อให้กรุงเทพฯ กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ทั้งนี้จากการประเมินเบื้องต้นพบว่า แต่ละเขตยังมีขยะตกค้างไม่ต่ำกว่า 500 ตัน
ด้านนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า หลังน้ำลดมีขยะจากน้ำท่วมตกค้างเป็นจำนวนมาก กทม.ได้ดำเนินการจัดเก็บขยะอย่างเร่งด่วนต่อเนื่องตลอดมาแต่เนื่องจากมีขยะตกค้างเป็นจำนวนมากในพื้นที่ 10 เขตที่มีน้ำท่วมหนักรวมประมาณ 100,000 ตัน จัดเก็บไปแล้วประมาณครึ่งหนึ่ง ยังตกค้างอยู่ราว 50,000 ตัน ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยลดปริมาณขยะได้มาก โดยจะมีการคัดแยกขยะออกเป็นแต่ละประเภทก่อนนำไปทิ้ง เช่น ขยะรีไซเคิลจะนำกลับเข้าสู่กระบวนการแปรรูป ขยะบางอย่างนำไปเป็นปุ๋ยได้ และบางส่วนนำไปขายได้ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและสะดวกต่อการกำจัดมากยิ่งขึ้น โดยคาดว่าการปรับเปลี่ยนแผนการจัดเก็บจะใช้เวลาประมาณ 7 วันเพื่อให้สถานการณ์ขยะกลับสู่สภาวะปกติ