คปภ.กระชับขั้นตอนจ่ายค่าสินไหม ช่วยผู้ประสบอุทกภัยรวดเร็ว-ทั่วถึงขึ้น

ข่าวทั่วไป Thursday December 15, 2011 16:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ.มีมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านการประกันภัยแก่ผู้ประสบอุทกภัย เช่น ระยะเวลาการจ่ายค่าสินไหมทดแทน การต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อเร่งฟื้นฟูความเสียหายของภาคอุตสาหกรรม บ้านที่อยู่อาศัย รวมถึงสร้างความมั่นใจให้กับธุรกิจประกันภัย ดังนี้

1. กระชับกระบวนการชำระค่าสินไหมทดแทนด้วยการเพิ่มบุคลากรผู้ประเมินความเสียหายที่มีความเชี่ยวชาญหรือเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสถาบันการศึกษา หรือสมาคมวิชาชีพ เช่น สมาคมวิศวกรรมสถาน สมาคมสถาปนิก เป็นผู้ประเมินความเสียหาย มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน (pool resource) เพื่อกระจายงานสำรวจภัยได้อย่างทั่วถึง และให้การประเมินความเสียหายเป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยขณะนี้มีผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาให้บริการประเมินความเสียหายแล้วประมาณ 300 คน และคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิและนิสิตนักศึกษาอีกประมาณ 200 คนร่วมเป็นผู้ประเมินความเสียหายเบื้องต้น ทั้งนี้กำหนดให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยภาคครัวเรือนให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และภาคอุตสาหกรรมให้ได้ร้อยละ 75 ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมด ภายใน 6 เดือน รวมถึงมีการแจกคู่มือประกันภัยสำหรับผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัย เพื่อสร้างความเข้าใจในกระบวนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่ชัดเจน

2. การรับประกันภัยอุทกภัยในประเทศ และรับประกันภัยต่อในต่างประเทศ สำนักงาน คปภ.ได้ติดตามภาวการณ์ในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีการต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยให้มีความคุ้มครองต่อเนื่อง โดยการกำหนดจำนวนเงินจำกัดความรับผิด (Sub Limit)ของกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน(IAR) สำหรับภัยน้ำท่วม และความรับผิดส่วนแรก (Deductible) เป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยต่อไปได้

ทั้งนี้ เนื่องจากในความเป็นจริงจำนวนทรัพย์สินที่เสียหายจากเหตุอุทกภัยโดยทั่วไปแล้วเป็นเพียงส่วนหนึ่งของทรัพย์สินทั้งหมด เช่น เมื่อน้ำลดแล้วตัวโครงสร้างของโรงงาน อาคาร บ้านเรือนยังคงอยู่ และความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเพียงสัดส่วนจำนวนหนึ่งของทรัพย์สินทั้งหมด

อย่างไรก็ดี สำนักงาน คปภ.อยู่ระหว่างการเร่งศึกษาการจัดตั้งรูปแบบการประกันมหันตภัยในรูปแบบต่างๆ โดยอาจมีภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้สาธารณชนในภาคครัวเรือนและผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) สามารถเข้าถึงความคุ้มครองอุทกภัยได้อย่างทั่วถึงในอัตราเบี้ยประกันต่ำ การบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพอีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ