"ดร.อานนท์"แนะ 5 วิธีรับมืออุทกภัยปี 55 ชี้เหลือเวลา 6 เดือน

ข่าวทั่วไป Monday January 2, 2012 13:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) และเลขานุการคณะทำงานบริหารจัดการระบายน้ำในพื้นที่สาธารณภัยร้ายแรง กล่าวว่า จริงๆ ในปี 2555 ไม่ค่อยน่ากังวล หากไม่มีพายุก็ไม่น่ามีปัญหา ฝนปีนี้น่าจะน้อย แต่ถ้าน้ำมาเท่าเดิมก็เชื่อว่าจะมีการบริหารจัดการที่ดีกว่าเดิม ซึ่งหากมาติดๆ กันนั้นดีเพราะบทเรียนยังสดๆ การฟื้นฟูบริหารจัดการคงดีขึ้น แต่ถ้าเว้นช่วงแล้วเราก็จะลืม

สำหรับแนวทางในการรับมือกับอุทกภัยในปี 2555 นี้ เรามีเครื่องมือบริหารจัดการน้ำอยู่แล้ว 5 อย่าง คือ ประตูระบายน้ำ คันกั้นน้ำ คูคลองต่างๆ สถานีสูบน้ำ และพื้นที่แก้มลิง ซึ่งต้องรักษาให้ดีและดูแลซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติภายใน 6 เดือน เพราะเข้าหน้าฝนแล้วจะทำให้การซ่อมบำรุงทำได้ลำบาก ทั้งนี้เป็นกังวลว่าหากไม่เริ่มฟื้นฟูเครื่องมือบริหารจัดการน้ำต่างๆ ที่อยู่นั้นเกรงว่าจะไม่ทันต่อการรับมืออุทกภัย

“เราต้องมาทบทวนบทเรียนในปีที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อถึงวิกฤตจริงๆ ประเด็นสำคัญ คือ การตัดสินใจและข้อมูล อีก 6 เดือนน้ำอย่างแน่นอน ปรากฏการณ์ลานีญาอ่อนๆ จะทำให้ต้นฤดูฝนมีน้ำเยอะ แต่ช่วงปลายถึงกลางปี 2555 น้ำน่าจะน้อยกว่าช่วงเดียวกันในปี 2554 มันเป็นเรื่องของมรสุม แต่ผมยังไม่เชื่อว่าเป็นลานิญญาเสียทีเดียว เพราะอุณหภูมิน้ำทะเลเฉลี่ยตอนนี้อยู่ประมาณ -0.9 องศาเซลเซียส ซึ่งจะเป็นลานิญญาได้อุณหภูมิต้องต่ำกว่า -1 องศาเซลเซียส แต่ตอนนี้ก็พยากรณ์ลานิญญาได้ยากกว่าเมื่อก่อน โดยปกติลานิญญาจะหมดในช่วง มี.ค.-เม.ย.แต่ก็อาจจะยาวถึงเดือน ก.ค.-ส.ค."ดร.อานนท์ กล่าว

ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าในช่วงปี 2543 ไม่มีพายุเลย จากนั้นก็เป็นช่วงขาขึ้นที่มีพายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และเฉลี่ยสูงสุดในช่วงปี 2555-2558 ซึ่งจะมีพายุเข้ามาเฉลี่ยปีละ 3 ลูก ดังนั้น ในปี 2555 จะอยู่ในช่วงที่เกิดพายุไต้ฝุ่นเฉลี่ยสูงตามวงรอบ 30 ปี

สำหรับอุทกภัยในปีที่ผ่านมา 60-70% เป็นผลพวงจากปัญหาที่สะสมมายาวนาน ทั้งปัญหาเรื่องการใช้ที่ดิน การสร้างถนน นโยบายผังเมือง นโยบายการเกษตร อย่างเช่น การส่งเสริมให้ต้องผลิตข้าวเยอะๆ ทำให้ต้องกักเก็บน้ำไว้มาก เป็นต้น แต่ในมุมมองส่วนตัวเขาไม่คิดว่าน้ำท่วมในปี 54 นั้นเป็นภัยพิบัติ เพราะไม่ได้สร้างความรุนแรงต่อชีวิต แต่เป็นภัยพิบัติเชิงเศรษฐกิจมากกว่า ส่วนปัญหาน้ำท่วมขัง หรือน้ำเน่าเป็นปัญหาในเรื่องสุขอนามัย แต่การเสียชีวิตจากไฟดูดหรืออื่นๆ เป็นผลกระทบทางอ้อม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ