นายวิเชียร ชวลิต เลขาธิการคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำ(กยน.) กล่าวว่า ที่ประชุม กยน.ได้รับทราบ 8 แผนงานที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณ และมีการพิจารณาวางแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวแก้ปัญหาอุทกภัย ซึ่งจะเป็นกรอบแผนงานกว้างๆ
โดยใน 8 แผนงานนั้นมี 6 แผนที่อยู่ในระยะเร่งด่วน และอีก 2 แผนอยู่ในแผนระยะยาว คือ เรื่องพื้นที่อนุรักษ์ป่าต้นน้ำ และการทำความเข้าใจกับประชาชนเรื่องการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งจะครอบคลุมการแก้ไขปัญหาอุทกภัย การทำความเข้าใจกับประชาชนว่าพื้นที่ใดจะเป็นแก้มลิงซึ่งจะต้องให้ความช่วยเหลือหรือชดเชยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเป็นพื้นที่แก้มลิง
"เมื่อกำหนดพื้นที่น้ำนอง หน่วยงานก็จะต้องผนวกเรื่องสร้างความเข้าใจ กระทรวงที่รับผิดชอบก็คือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมคิดว่าในพื้นที่รับน้ำนองเมื่อผันน้ำเข้าไปเป็นแก้มลิงธรรมชาติจะต้องมีส่วนช่วยเหลือ ดูรายละเอียดจะช่วยเหลือการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต หรือปรับเป็นพื้นที่การเกษตร" นายวิเชียร กล่าว
ส่วนพื้นที่รับน้ำจะเป็นจุดใดบ้างและระยะเวลาเท่าใดนั้น นายวิเชียร กล่าวว่า ขณะนี้ในระยะสั้นก็มีการกำหนดระยะเวลาที่ต้องเริ่มต้นในปี 55 ส่วนระยะยาวนั้นยังไม่สามารถกำหนดได้ เพราะต้องมีการศึกษาก่อน ทั้งนี้หากประชาชนในพื้นที่ต่างๆ อาจจะมีการต่อต้านนั้น ก็ต้องทำความเข้าใจตามกฎหมายตามกระบวนการที่กำหนดไว้ต่อไป ขณะที่การทำฟลัดเวย์ก็มีการพูดคุยถึงประสิทธิภาพของฟลัดเวย์จะทำพื้นที่ใดบ้าง รวมทั้งอุโมงค์ระบายน้ำที่มีการเสนอให้ทำก่อนหน้านี้ก็พูดคุยในข้อเสนอ แต่ยังไม่ได้กำหนดจะใช้แนวทางใด
นายวิเชียร กล่าวด้วยว่า การประชุม กยน.วันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงเรื่องแผนงานจะมีความล่าช้า แต่ขณะนี้หน่วยงานต่างๆ ก็ได้นำแผนงานระยะสั้นไปปฏิบัติแล้วและเชื่อว่าไม่น่าจะมีอุปสรรค ขณะเดียวกันแต่ละหน่วยงานก็ต้องเร่งรัดทำให้เสร็จทันตามระยะเวลา โดยระยะยาวก็อาจจะมีการให้ที่ปรึกษาเข้าดูแผนงานด้วย ซึ่งจะทำให้แผนงานประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น