รมว.สาธารณสุข(สธ.) สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) ทุกแห่งจับตาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกและเฝ้าระวังผู้ป่วย พร้อมทั้งย้ำเตือนประชาชนอย่านำซากสัตว์ปีกมาประกอบอาหาร หากพบสัตว์ปีกตายในหมู่บ้านให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อสม.ทันที
"การพบสัตว์ปีกติดเชื้อไข้หวัดนกเป็นระบบของการเฝ้าระวังโรคที่ดำเนินการต่อเนื่อง และเป็นสัญญาณจะต้องมีการเฝ้าระวังการติดเชื้อในคน ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขไทยได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดทั่วประเทศเฝ้าระวังป้องกันการเจ็บป่วยในคนโดยเฉพาะผู้ป่วยที่ปอดอักเสบ ปอดบวม แม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่มีการติดเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ปีกก็ตาม" นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข กล่าว
ทั้งนี้มีรายงานข่าวประเทศเวียดนามสั่งกำจัดไก่ 2,500 ตัวที่บริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง เขตบินห์พู จังหวัดเตียงแยง หลังเจ้าหน้าที่สาธารณสุขปศุสัตว์ตรวจพบเชื้อไข้หวัดนกชนิด เอช 5 เอ็น 1 และตรวจพบไก่ติดเชื้อไข้หวัดนกอีกที่จังหวัดโฮว์แยง
รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ไทยมีความเสี่ยง 2 ประการ คือ 1.จากนกตามธรรมชาติอพยพย้ายถิ่นข้ามประเทศ และ 2.ขณะนี้สภาพอากาศของประเทศไทยหนาวเย็นซึ่งจะเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสทุกชนิด ดังนั้นจึงต้องมีการป้องกันเฝ้าระวังโรคอย่างเต็มที่
"หากประชาชนพบเห็นสัตว์ปีกตายผิดปกติ ขอให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจตายจากไข้หวัดนก ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือ อสม.ทันที เพื่อนำซากสัตว์ปีกไปตรวจสอบว่าติดเชื้อไข้หวัดนกหรือไม่ และห้ามจับต้อง หรือสัมผัสซากสัตว์ปีกที่ตายด้วยมือเปล่าอย่างเด็ดขาด ประการสำคัญคือ ห้ามนำซากสัตว์ปีกที่ตายมาชำแหละเป็นอาหาร เนื่องจากหากสัตว์ติดเชื้อไข้หวัดนก เชื้อจะแพร่สู่คนขณะชำแหละ สำหรับผู้ที่จะทำลายสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย ต้องสวมถุงมือหรือใช้ถุงพลาสติก พร้อมทั้งสวมหน้ากากอนามัยด้วย" นายวิทยา กล่าว
ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยไข้หวัดนกในช่วงปี พ.ศ.2547-2549 จำนวน 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย และจากการเฝ้าระวังผู้ป่วยตั้งแต่ปี พ.ศ.2549-2554 โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ยังไม่พบผู้ป่วยไข้หวัดนก แต่ยังคงให้โรงพยาบาลทุกแห่งเฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีอาการโรคทางเดินหายใจ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม ปอดอักเสบ โดยจะมีการซักประวัติการสัมผัสสัตว์ปีก หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติทุกราย
สำหรับสถานการณ์ไข้หวัดนกทั่วโลก องค์การอนามัยโลกรายงานตั้งแต่ปี พ.ศ.2546-2554 พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไข้หวัดนกใน 15 ประเทศ รวม 574 ราย เสียชีวิต 337 ราย เฉพาะปี พ.ศ.2554 พบผู้ป่วยไข้หวัดนกใน 4 ประเทศ รวม 58 ราย เสียชีวิต 31 ราย ได้แก่ บังคลาเทศป่วย 2 ราย กัมพูชาป่วย 8 ราย เสียชีวิตทั้งหมด อียิปต์ป่วย 37 ราย เสียชีวิต 14 ราย และอินโดนีเซียป่วย 11 เสียชีวิต 9 ราย