(เพิ่มเติม) นายกฯแถลงแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำสร้างความเชื่อมั่นรับมืออุทกภัยในอนาคต

ข่าวทั่วไป Friday January 20, 2012 13:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมีหลักการดำเนินงานที่สำคัญ 3 ด้าน คือ 1.การปรับปรุงและฟื้นฟูระบบป้องกันน้ำท่วมที่มีอยู่ให้สมบูรณ์ 2.การสร้างความเชื่อมั่นในการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชน พื้นที่เกษตร พื้นที่อุตสาหกรรม และพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ และ 3.บูรณาการการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อบริหารจัดการน้ำให้ลงสู่ทะเลโดยเร็ว

พร้อมระบุถึงเป้าหมายที่รัฐบาลจะดำเนินการในปี 55 ซึ่งมีเป้าหมาย คือ การลดระดับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากน้ำท่วมในปี 55 โดยใช้งบประมาณ 18,110 ล้านบาท ซึ่งได้จัดสรรงบประมาณไว้แล้วประกอบด้วย 6 แนวทางการดำเนินงานในแต่ละด้าน ดังนี้

1.การจัดทำระบบข้อมูล ระบบพยากรณ์ และระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพและเป็นเอกภาพ 2.การบริหารจัดการพื้นที่ต้นน้ำ เช่น การปลูกป่า และพืชซับน้ำตามแนวพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง 3.การบริหารจัดการพื้นที่กลางน้ำ โดยบริหารจัดการการระบายน้ำของเขื่อนหลัก เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ โดยระยะยาวจะเป็นการเชื่อมลุ่มน้ำทั้งหมดให้ไหลตามกระแสธรรมชาติเพื่อลงสู่ทะเล

4. การบริหารจัดการพื้นที่ปลายน้ำ แบ่งเป็น ฝั่งตะวันตก เช่น การเสริมและฟื้นฟูคันกั้นน้ำ, การพัฒนาระบบระบายน้ำหลาก Floodway แนวริม ถ.วงแหวนกาญจนาภิเษก ส่วนฝั่งตะวันออก เช่น การขุดลอกสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา, การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลองแนวตั้ง เช่น คลองเปรมประชากร

5. การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เศรษฐกิจ (นิคมอุตสาหกรรม) โดยการสร้างแนวป้องกันน้ำล้นตลิ่ง การเสริมถนนเป็นคันกั้นน้ำรอบนิคมอุตสาหกรรม การจัดตั้งกองทุนประกันภัย 50,000 ล้านบาท เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่บริษัทประกันภัยในการรับประกันภัยน้ำท่วม

6. การพัฒนาและปรับปรุงการบริหารจัดการ โดยจัดตั้งองค์กรบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการที่สามารถตัดสินใจได้อย่างฉับพลันในลักษณะ Single Command, การปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และภาคเอกชนต่างเต็มระบบ

ขณะที่แผนปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัยแบบบูรณาการและยั่งยืน จะประกอบด้วย 4 ด้าน คือ

1.การพัฒนาระบบคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์ และระบบเตือนภัยวงเงิน 3,000 ล้านบาท

2.การฟื้นฟู อนุรักษ์ป่าและระบบนิเวศวงเงิน 60,000 ล้านบาท ประกอบด้วย การปลูกป่า สร้างฝายแม้ว อนุรักษ์ดินและน้ำด้วยการปลูกหญ้าแฝก และการสร้างอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนในลุ่มน้ำยม สะแกกรัง น่าน และป่าสัก

3.การกำหนดพื้นที่รับน้ำนองและมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้พื้นที่เพื่อการรับน้ำ วงเงิน 60,000 ล้านบาท ประกอบด้วยการกำหนดพื้นที่รับน้ำนองในเขตเจ้าพระยาตอนบน และตอนล่าง ประมาณ 10 แห่ง การกำหนดมาตรการชดเชยความเสียหายเป็นกรณีพิเศษ การปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานให้เป็นแก้มลิงประมาณ 2 ล้านไร่ ในฤดูน้ำหลาก

4.การจัดสร้างและปรับปรุงโครงข่ายระบายน้ำขนาดใหญ่ของประเทศ วงเงิน 177,000 ล้านบาท ประกอบด้วย การจัดทำทางน้ำหลากหรือทางผันน้ำจากแม่น้ำป่าสักถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ไปทางตะวันออกหรือทั้ง 2 ฝั่ง การจัดทำโครงการจัดทำผังการใช้ที่ดิน/และการใช้ประโยชน์ที่ดินในผัง รวมทั้งจัดทำพื้นที่ปิดล้อม และโครงการปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก และคันริมแม่น้ำส่วนที่เหลือ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งดังกล่าวได้สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินประชาชน จำนวน 4,213,404 ครัวเรือน และมีผู้เสียชีวิต 676 ราย สูญหาย 3 คน นอกจากนี้ยังมีความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งที่เป็นมูลค่าความเสียหายและค่าเสียโอกาสจากการเกิดอุทกภัยด้านการจัดการน้ำ การสาธารณูปโภคสาธารณูปการ แหล่งศิลปวัฒนธรรม ภาคเกษตร อุตสาหกรรม ความสูญเสียด้านสังคม บ้านเรือนประชาชน และความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม รวม 1.42 ล้านล้านบาท

จำแนกเป็นความเสียหายภาครัฐ 0.14 ล้านล้านบาท และภาคเอกชน 1.28 ล้านล้านบาท สถานประกอบการ 28,679 แห่ง นิคมอุตสาหกรรม 7 แห่ง และแรงงาน 993,944 คนได้รับผลกระทบ

พร้อมยอมรับว่าสาเหตุของอุทกภัยดังกล่าว มาจากการที่พื้นที่ป่าไม้ลดลง ระบบนิเวศน์ถูกทำลาย องค์กรที่มีอำนาจบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบยังไม่มีประสิทธิภาพอย่างเพียงพอ การขาดแผนหลักและงบประมาณในการบริหารจัดการน้ำในระยะยาว ตลอดจนระบบข้อมูลทรัพยากรน้ำของประเทศยังไม่มีประสิทธิภาพกฏหมายด้านการจัดการทรัพยากรน้ำไม่ทันสมัย และการขาดความพร้อมในการเผชิญอุทกภัยขนาดใหญ่ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ