Analysis: ปิดตำนาน "โกดัก" เหยื่อรายล่าสุดของวิวัฒนาการเทคโนโลยี

ข่าวต่างประเทศ Friday January 20, 2012 18:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท อีสต์แมน โกดัก ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการผลิตฟิล์มถ่ายรูปรายใหญ่ของสหรัฐ ได้ยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์สินจากการล้มละลายตามกฎหมายมาตรา 11 แห่งสหรัฐอเมริกาเมื่อช่วงเช้าวานนี้ (19 ม.ค.) ซึ่งถือเป็นการปิดฉากผู้ผลิตฟิล์มถ่ายรูปที่ครองตลาดโลกมายาวนานถึง 131 ปี

การล้มละลายของบริษัทระดับ "ไอคอน" อย่างโกดัก ถือเป็นเหยื่อรายล่าสุดของการวิวัฒนาการเทคโนโลยีระบบดิจิตอล ที่ทำให้คนหลายรุ่นที่เติบโตมากับ "โลโก้สีเหลือง" และวลีคุ้นหูของคนในยุคนั้นที่ว่า "โกดัก โมเมนท์" ต่างกันรู้สึกเศร้าใจไปกับข่าวนี้

*ดิ้นจนเฮือกสุดท้าย

นายอันโตนิโอ เปเรซ ซีอีโอของโกดักกล่าวว่า คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายการจัดการทุกคน มีความเชื่อที่เหมือนกันว่า "การยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์สินจากการล้มละลายถือเป็นขั้นตอนที่จำเป็นและถูกต้องสำหรับอนาคตของโกดัก"

แถลงการณ์ของบริษัทระบุว่า มีเพียงโกดักและบริษัทในเครือในสหรัฐเท่านั้นที่ต้องปรับโครงสร้างองค์กร และโกดักจะยังคงให้บริการลูกค้าทุกรายทั่วโลกในระหว่างที่เรื่องอยู่ในกระบวนการยื่นขอพิทักษ์จากการล้มละลาย

"กฎหมายมาตรา 11 ไม่ได้หมายความว่าโกดักจะต้องออกไปจากแวดวงธุรกิจ เราเลือกที่จะดำเนินการในขั้นตอนดังกล่าว ก็เพื่อที่จะรุกคืบไปสู่การสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งขึ้นในอนาคตสำหรับโกดัก เราคาดหวังว่าหลังจากการปรับโครงสร้างองค์กรเสร็จสิ้นแล้ว กิจการของโกดักจะฟื้นคืนชีพอีกครั้ง" นายเปเรซกล่าว

* เมื่อยักษ์ใหญ่ล้ม

โกดักพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะกอบกู้บริษัทซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนานถึง 131 ปีให้คืนชีพอีกครั้ง

นับตั้งแต่ที่นายจอร์จ อีสต์แมน เริ่มจดทะเบียนบริษัทที่กรุงนิวยอร์กเมื่อปีพ.ศ. 2431 โกดักก็กลายเป็นชื่อที่คุ้นเคยของครัวเรือนชาวอเมริกันและทั่วโลกมาหลายต่อหลายรุ่น ในฐานะผู้ผลิตฟิล์มและกล้องถ่ายรูป

กิจการของโกดักเฟื่องฟูนานอยู่หลายทศวรรษ ด้วยผลกำไรและเงินสดหมุนเวียนมูลค่ามหาศาล โดยเฉพาะในปีพ.ศ. 2524 ที่โกดักสามารถทำยอดขายทะลุ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นรายได้ที่บรรดาบริษัทคู่แข่งทำได้ก็แค่ในฝันเท่านั้น

แต่ในขณะที่โกดักกำลังเพลิดเพลินอยู่กับช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์นั้น โลกของเราก็ก้าวเข้าสู่ "ยุคดิจิตอล" อย่างรวดเร็วจนคนส่วนใหญ่คาดไม่ถึง และในยุคดิจิตอลนี้เอง ทำให้โกดักตามไม่ทันคู่แข่งอย่าง นิคอน โซนี่ และแคนนอน จนท้ายที่สุดโกดักต้องเสียส่วนแบ่งตลาดให้คู่แข่งเหล่านี้

นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2543 - 2546 เป็นต้นมา กำไรของโกดักทรุดฮวบลงกว่า 70% และส่วนแบ่งตลาดก็ทรุดตัวลงอย่างหนักในช่วงเวลาดังกล่าว จากนั้นนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548 โกดักต้องสูญเงินเป็นจำนวนมากในทุกๆ ขณะที่จำนวนพนักงานที่มีอยู่มากถึง 145,000 ตำแหน่งในยุคที่กิจการรุ่งเรือง กลับลดลงเหลือเพียง 17,000 ตำแหน่งในปัจจุบัน และมูลค่าตลาดของโกดักมีไม่ถึง 150 ล้านดอลลาร์ จากเมื่อ 15 ปีก่อนที่สูงถึง 3.1 หมื่นล้านดอลลาร์

จากนั้น โกดักต้องปรับโครงสร้างองค์กรด้วยความรู้สึกที่เจ็บปวด แต่ก็ยังไม่สามารถรักษาบริษัทได้รอดพ้นจากการยื่นล้มละลายได้

โรเบิร์ก ซาโลมอน ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาธุรกิจจากมหาวิทยาลัยสเติร์น ในนครนิวยอร์ก กล่าวว่า "ในฐานะบริษัทผลิตฟิล์มรุ่นเก่า โกดักได้พลาดโอกาสมากมายในการก้าวเข้าสู่โลกดิจิตอล ประการแรกคือโกดักประเมินผลกระทบของดิจิตอลที่จะมีต่อธุรกิจของตนเอง 'ต่ำเกินไป' และโกดักเพิกเฉยต่อสิ่งที่จะเอื้ออำนวยต่อธุรกิจของบริษัท เมื่อโกดักพยายามกระโจนเข้าสู่โลกดิจิตอล ทุกอย่างก็สายเกินไปเสียแล้ว และท้ายที่สุดโกดักก็พบว่า ตนเองไม่มีที่ยืนในโลกดิจิตอล"

* บทเรียนของโกดัก

เมื่อมองย้อนกลับไปที่ประวัติศาสตร์อันยาวนานของโกดักก็พบว่า โกดักยืนยงอยู่แถวหน้าของแวดวงอุตสาหกรรมภาพถ่ายมาเป็นเวลานาน จวบจนกระทั่งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

การล้มละลายของโกดักจะกลายเป็นกรณีศึกษาที่ควรค่าแก่การพินิจพิเคราะห์มากที่สุดในมหาวิทยาลัยด้านธุรกิจ และเป็นบทเรียนที่ดีที่ควรเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง

ซาโลมอนกล่าวว่า ประวัติศาสตร์ไม่เคยคอยใคร เมื่อเทคโนโลยีภาพถ่ายก้าวล่วงจาก "ยุคของฟิล์ม" ไปสู่ "ยุคดิจิตอล" โกดักกลับไม่มีไหวพริบ และที่สำคัญ โกดักไม่กล้าพอที่จะก้าวออกจากจุดเดิม แต่กลับเลือกที่จะยึดติดอยู่กับธุรกิจฟิล์ม ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ดั้งเดิม และโกดักได้แต่มองดูธุรกิจของตนเองเลือนหายไปต่อหน้าต่อตา

"ถ้าคุณเป็นจ่าฝูงที่แข็งแกร่งและมีพลานุภาพในอุตสาหกรรมประเภทใดประเภทหนึ่ง สิ่งที่คุณต้องทำคือตรวจตราและสำรวจเทคโนโลยีใหม่ๆอยู่ตลอดเวลาในช่วงที่เทคโนโลยีเหล่านี้เริ่มเป็นที่สนใจของตลาด คุณไม่ควรรอนานเกินไป คุณควรจะปรับตัวเองเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆเหล่านั้นเสียแต่เนิ่นๆ" ซาโลมอนกล่าว

เพราะสำหรับบริษัทที่อยู่ในโลกของการแข่งขันที่ดุเดือดแล้ว การนวัตกรรมจะมีความหมายก็ต่อเมื่อมันสามารถทำเงินได้เท่านั้น แม้โกดักได้ครอบครองสิทธิบัตรมากมาย รวมถึงเทคโนโลยีกล้องดิจิตอล แต่กลับไม่สามารถทำเงินจากเทคโนโลยีดังกล่าวได้ และทำได้แต่เพียงมองดูค่ายอื่นๆ เช่น แอปเปิล, เอชทีซี และซัมซุง เจริญรุ่งเรืองและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์มหาศาลเท่านั้น ซาโลมอนกล่าว

บทวิเคราะห์โดย หนิว ไห่หรง จากสำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ