นักวิชาการ แนะใช้น้ำท่วมปี 54 เป็นบทเรียนในการบริหารจัดการน้ำ

ข่าวทั่วไป Wednesday January 25, 2012 15:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิชาการแนะใช้น้ำท่วมปี 54 เป็นบทเรียน และควรเตรียมความพร้อมไว้รองรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกได้ "บวรศักดิ์" มองปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นมาจากความขัดแย้งในการบริหารจัดการน้ำ "เสรี" แจง 7 บทเรียนจากน้ำท่วมครั้งก่อน ส่วนปีนี้น้ำจะท่วมอีกหรือไม่ ยังไม่สามารถประเมินล่วงหน้าได้ แต่มองว่าในปีนี้ฝนจะมาเร็ว ความเสี่ยงจากพายุยังมีอยู่ "ปราโมทย์" แนะยึดพระราชดำริแก้น้ำท่วม

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวเปิดการเสวนาหัวข้อ“อภิมหาโปรเจกต์ สู้น้ำ: คิดดี คิดชอบ คิดรอบ หรือยัง?” ว่า ในปีนี้มีการคาดหมายว่าจะเกิดน้ำท่วมขึ้นอีก และหลายคนก็ระบุว่าปี 2554 เป็นเพียงน้ำจิ้ม ของจริงอยู่ที่ปี 2555 ทั้งนี้หากไม่มีการเตียมการป้องกันหรือการบริหารจัดการจะเห็นความขัดแย้งมากขึ้นและเชื่อว่าจะหนักกว่าปี 2554

"ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น เกิดจากความขัดแย้งทั้งจากฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ ในความขัดแย้งการควบคุมการเปิดประตูระบายน้ำได้กับปิดประตูระบายน้ำไม่ได้ อีกทั้งความขัดแย้งของจังหวัดที่น้ำท่วมกับน้ำไม่ท่วม ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าความขัดแย้งในการบริหารจัดการน้ำยังสูง...ซึ่งการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง" นายบวรศักดิ์ กล่าว

พร้อมระบุว่า ภาคประชาชนควรต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอย่างเหมาะสม

ขณะที่นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ(กยน.) กล่าวว่า เมื่อถอดบทเรียนวิกฤติน้ำท่วม 2554 พบว่าบทเรียนที่ 1 คนไทยไม่รู้ว่าน้ำจะท่วมกรุงเทพและปริมณฑล เพราะไม่ค่อยได้รับข้อมูลข่าวสาร ทำให้คนไทยไม่รู้ตัว บทเรียนที่ 2 ขาดระบบสนับสนุนการตัดสินใจ ในเรื่องฐานข้อมูล เครื่องมือ และกลยุทธ์ บทเรียนที่ 3 Flood way หรือ Flood All way เป็นทางที่น้ำผ่านหรือทางน้ำไหล บทเรียนที่ 4 นิคมอุตสาหกรรมจมน้ำ มีความเสียหาย 230,000 ล้านบาท บทเรียนที่ 5 ชุมชนเข้มแข็งและมีส่วนร่วม บทเรียนที่ 6 ความเห็นผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ ที่หลายชาติเห็นว่าการสื่อสารทำได้แย่มาก บทเรียนที่ 7 ทางออกประเทศไทย ซึ่งประเทศไทย 77 จังหวัดมีการประกาศใช้ผังเมืองแค่ 4 จังหวัด ตราบใดไม่มีผังเมืองบังคับใช้จะทำให้เป็นปัญหา

นอกจากนี้ นายเสรี กล่าวอีกว่า รัฐบาลต้องมีความชัดเจนว่าจะต้องมีความชัดเจนในการออกพิมพ์เขียวในการป้องกันน้ำท่วม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งคาดว่าภายในสัปดาห์นี้น่าจะมีความชัดเจน

สำหรับในปี 2555 น้ำจะท่วมอีกหรือไม่นั้นยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนจากฝ่ายต่างๆ แต่หากในปี 2555 มีน้ำมามากเหมือนปี 2554 ตนเชื่อว่าน้ำจะท่วมแน่นอน เพราะมาตรการระยะสั้นไม่สามารถทำได้ทัน เนื่องจากการเริ่มเจรจาทำฟลัดเวย์ก็มีปัญหาแล้ว สำหรับน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิตติ์ก็มีน้ำอยู่ 90% ขณะที่เดือนมีนาคมเริ่มปลูกข้าว ก็ต้องให้เร่งเก็บในเดือนเมษายน และภายใน 2 เดือนจะปล่อยน้ำ 15,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งขณะนี้ในแม่น้ำเจ้าพระยาก็เริ่มปล่อยน้ำแล้ว เพราะในปีนี้ฝนจะมาเร็ว

นอกจากนี้ ยังได้วิเคราะห์ว่าในปี 55 และ 56 จะมีอิทธิพลของปรากฎการณ์ลานิญญาอยู่ โดยเดือนมี.ค.-พ.ค. ฝนจะมาเร็ว ทำให้มีปัญหาของเขื่อนที่ต้องรีบปล่อยน้ำออก หลังจากนั้นจะต้องทิ้งช่วง เพราะเดือน ก.ย.-พ.ย.ในปีนี้ฝนจะตกน้อยลง แต่สิ่งที่คาดไม่ได้ก็คือเรื่องของพายุว่าจะมาที่ไหนหรือเมื่อไหร่ สาเหตุที่คาดว่าพายุจะเข้าเยอะเพราะมีข้อมูล 40-50 ปีที่แล้วจะมีเส้นของพายุเกิดขึ้นมาก แต่ต้องยอมรับว่าพายุยังเยอะอยู่ ซึ่งปกติเราสามารถคาดการณ์ ล่วงหน้าเพียง 7 วัน แต่แม่นยำจริงๆ เพียงแค่ 3 วัน จึงไม่สามารถประเมินล่วงหน้าได้

"จากข้อมูลล่าสุดฝนจะไม่ตกเท่าปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งการที่ฝนไม่ตกถือว่าเป็นข่าวดี ความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมเหมือนปลายที่แล้วลดลงไป แต่ความเสี่ยงจากพายุที่จะเกิดในมหาสมทุรแปซิฟิค ยังสูงอยู่ ซึ่งน้ำจะท่วมหรือไม่ท่วมขึ้นอยู่กับพายุอย่างเดียวเท่านั้น แต่ในภาพรวมผมมั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์อย่างนั้น"

ด้านนายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทานและ กรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ(กยน.) กล่าวว่า หลักคิด หลักทำการจัดการปัญหาอุทกภัยกรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้นต้องยึดแนวพระราชดำริในปีต่างๆ ที่ได้พระราชทานไว้อย่างสมบูรณ์ ให้นำมาขับเคลื่อนขยายผลอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ยังได้แนะนำให้ยึดยุทธศาสตร์ “สู้ภัย" นำมาบูรณาการร่วมกัน อาทิ มาตรการควบคุมระดับน้ำอุทกภัยในแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ให้ล้นตลิ่ง ที่อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ส่วนน้ำที่ล้นตลิ่งให้ไหลไปตามฟลัดเวย์ ตามที่แนวพระราชดำริปี 2523,2538,2533 ส่วนสิ่งก่อสร้างของฟลัดเวย์จะมีลักษณะอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการศึกษาวิเคราะห์ทางวิศวกรรมและการมีส่วนร่วมของสังคม เมื่อมีงานฟลัดเวย์ที่สมบูรณ์แล้วก็ต้องดูว่าจะลดผลกระทบ หรือมีผลกระทบระหว่างกลุ่มประชาชนหน้าและหลังคันกั้นน้ำหรือไม่ และพื้นที่ด้านฝั่งตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งถึงพื้นที่จังหวัดต่างๆ ในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างถึงจ.พระนครศรีอยุธยาจะปลอดจากปัญหาน้ำท่วมรุนแรงอย่างยั่งยืน


แท็ก น้ำท่วม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ