นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) กล่าวถึงแนวทางในการบริหารจัดการเพื่อตั้งรับและรับมือในมุมมองการแก้ปัญหาน้ำท่วมปี 55 ว่า รัฐบาลจะต้องนำบทเรียนจากเหตุอุทกภัยในปี 54 มากำหนดแนวทางในการแก้ปัญหา โดยสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การบริหารข้อมูลข่าวสารที่ต้องเน้นการประชาสัมพันธ์ และบอกข้อมูลข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้ทราบ รวมถึงการเร่งผันน้ำออกไปตามทุ่งต่างๆ เพื่อระบายปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาให้ลดระดับลง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้บอกข้อมูลหรือข่าวสารให้ประชาชนได้เตรียมตัวล่วงหน้า ซึ่งอาจยังไม่มีประสบการณ์ในการตั้งรับเมื่อเกิดภัยพิบัติ และแม้จะมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) แต่ยังไม่มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งในระดับเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ประเมินเหตุการณ์ว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงมากน้อยเพียงใด ขาดการวางแผนเพื่ออนาคตจนนำมาสู่วิกฤติอุทกภัยในครั้งนี้
นายปราโมทย์ มองว่า การดำเนินการเร่งด่วนในปีนี้คือการเร่งสร้างฟลัดเวย์ที่ถือว่ามีความจำเป็น และอาจต้องจ้างบริษัทผู้เชี่ยวชาญมาสำรวจ ศึกษา และออกแบบ เพราะลำพังแค่ กยน.เพียงหน่วยงานเดียวคงจะทำไม่สำเร็จ และเมื่อได้ข้อมูลมาแล้วรัฐบาลก็จะสามารถประเมินและวางแนวทางในการแก้ไขปัญหาได้
พร้อมกันนี้ยังสนับสนุนกรณีที่ชุมชนหรือนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ จะสร้างแนวคันกั้นน้ำของตัวเอง ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ และเชื่อว่าจะไม่ส่งผลต่อภาพรวมในทิศทางการระบายน้ำ
ด้านนายอดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะผู้ประสานงานการแก้ไขปัญหาอุทกภัยเหนือแนวบิ๊กแบ็ก กล่าวว่า แนวทางที่จะรับมือกับปัญหาน้ำท่วมในปีนี้ จะต้องรู้เขารู้เรา คือ ต้องรู้ถึงปริมาณน้ำที่จะมาถึง รวมถึงต้องรู้สถานการณ์ว่าน้ำจะมีความรุนแรงหรือไม่ และไหลไปในทิศทางใด ซึ่งถือเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลต้องเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบ รวมทั้งประชาชนต้องรู้ข้อมูลของตัวเอง และหาแนวทางในการป้องกัน โดยอาจมาพูดคุยกันภายในชุมชนถึงแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ
พร้อมมีข้อเสนอว่ารัฐบาลควรจะจัดระบบบริหารจัดการใหม่ โดยรัฐบาลสามารถเริ่มต้นด้วยการตั้งคณะกรรมการขึ้นอีก 1 ชุด เชิญผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการน้ำให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ นอกเหนือจากที่มี กยน.อยู่ในปัจจุบัน