เอแบคโพลล์เผย ปชช.ห่วงการปลุกระดมจ้องทำลายสถาบันหลักชาติ-ความแตกแยกรุนแรง

ข่าวทั่วไป Sunday January 29, 2012 10:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง เรื่องใหญ่โตของประเทศที่ทุกคนต้องช่วยกัน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วไปใน 17 จังหวัดของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,572 ครัวเรือน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15 — 28 มกราคม 2555 พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.4 รู้สึกเป็นห่วงมากถึงมากที่สุดต่อการรณรงค์ปลุกระดมของกลุ่มคนที่จ้องทำลายสถาบันหลักของชาติ และกว่าร้อยละ 80.6 ยังคงเป็นห่วงมากถึงมากที่สุดต่อความขัดแย้งแตกแยกรุนแรงของคนในชาติ ในขณะที่กว่า 2 ใน 3 หรือร้อยละ 71.8 รู้สึกว่าประเทศไทยมีแต่เรื่องวุ่นวาย ไม่จบสิ้น ประเทศเพื่อนบ้านกำลังพัฒนาไปได้ด้วยดี

นอกจากนี้ เรื่องใหญ่โตที่คนไทยทั่วไปรู้สึกได้คือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.5 ระบุว่า ระบบเด็กเส้น เด็กฝากในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเป็นปัญหาใหญ่เกิดขึ้นในทุกรัฐบาลทำให้ประชาชนไม่ได้รับการปฏิบัติที่ดี เพราะข้าราชการเด็กฝากเหล่านั้นไม่ยอมทำงานและมุ่งเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ และข้าราชการที่ถูกเอาเปรียบท้อแท้เพราะถูกเด็กฝากเด็กเส้นทำลายระบบคุณธรรม และที่น่าเป็นห่วงคือ ตัวอย่าง 2 ใน 3 หรือร้อยละ 66.8 ระบุความไม่เป็นธรรมและการเลือกปฏิบัติยังคงมีอยู่มากถึงมากที่สุด และร้อยละ 65.9 ยังคงรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในเรื่อง อาชญากรรม การจราจร และภัยธรรมชาติ

ที่น่าพิจารณาคือความคิดเห็นของประชาชนว่า ต้องการให้ตำรวจอำนวยความสะดวกรถนำขบวนบรรดารัฐมนตรีก่อน หรืออำนวยความสะดวกรถพยาบาลคนป่วยหนักและรถกู้ภัยฉุกเฉินก่อน ผลสำรวจพบว่า เกือบร้อยละร้อยหรือร้อยละ 94.1 ต้องการให้ตำรวจอำนวยความสะดวกรถพยาบาลคนป่วยและรถกู้ภัยฉุกเฉินก่อน

นอกจากนี้ ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ ผลสำรวจพบว่า เกินกว่าร้อยละ 60 ของประชาชนที่ถูกศึกษาตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาจนถึงสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีทัศนคติอันตรายยอมรับได้ ถ้ารัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น แต่ทำให้ตนเองได้ผลประโยชน์ด้วย โดยมีกลุ่มข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 64.0 ที่มีทัศนคติอันตรายเช่นนั้น และกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือนักเรียนนักศึกษามีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 56.2 ที่มีทัศนคติอันตรายเช่นกัน โดยในการศึกษาครั้งนี้ยังพบด้วยว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 68.9 คิดว่า การทุจริตคอรัปชั่นเป็นเรื่องปกติธรรมดาในการทำธุรกิจ

นายนพดล กรรณิกา ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า สังคมไทยในเวลานี้อาจจำเป็นต้องประยุกต์ใช้ “ทฤษฎีหน้าต่างแตก" หรือ Broken Window Theory โดยในปี 1993 นาย Rudolph Giuliani ผู้ได้รับเลือกเป็นผู้ปกครองของมหานครนิวยอร์คนำมาใช้โดยมีแนวคิดหลักที่ว่า หากปล่อยให้คนร้ายทำลายหน้าต่างแตกบานหนึ่งและไม่เร่งหาสาเหตุและแก้ไขซ่อมแซมหน้าต่างและจับกุมคนร้าย ก็จะทำให้คนร้ายคนอื่นๆ ทำลายหน้าต่างแตกเพิ่มเติมไปจนอาจหมดทุกบานนำไปสู่การบุกรุกเข้าในตัวอาคารมากขึ้น ซึ่งคล้ายกับปัญหาใหญ่ๆ ในประเทศไทยเวลานี้ เพราะหากปล่อยให้กลุ่มคนจ้องทำลายความจงรักภักดีของคนในชาติต่อสถาบันหลักของประเทศ ก็จะมีคนอื่นๆ ทำตามๆ กัน เพราะหากปล่อยให้มีกลุ่มคนปลุกระดมสร้างความขัดแย้งแตกแยกรุนแรงในสังคมก็จะมีคนอื่นๆ ทำตามกัน

หากปล่อยให้มีระบบเด็กเส้นเด็กฝากในระบบราชการก็จะทำให้มีการทำตามๆ กันเมื่อเปลี่ยนแปลงอำนาจของรัฐบาล เพราะเมื่อปล่อยให้มีการเลือกปฏิบัติไม่มีความเป็นธรรมในสังคมก็จะทำให้เกิดคนอื่นๆ หาโอกาสเอารัดเอาเปรียบกันในสังคม และเพราะปล่อยให้มีการขับรถเกินความเร็วที่กำหนด ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ไม่สวมหมวกกันน็อค ก็จะทำให้คนอื่นๆ ทำตามๆ กัน และเพราะปล่อยให้เกิดเด็กสายของตำรวจค้ายาไม่จับกุมไปดำเนินคดีก็จะทำให้เยาวชนคนอื่นๆ ทำตามๆ กันบ้าง ดังนั้น ต้องถามคนไทยทั้งประเทศว่าจะยอมเสียสละได้บ้างหรือไม่ในเรื่องการถูกจำกัดเสรีภาพและความไม่สะดวกสบายบางประการเพื่อไม่ให้เกิดสภาวะที่ว่า “คนดีก็ตายง่าย คนเก่งก็อพยพหรือลาออกจากสังคมไป ส่วนพวกที่เหลืออยู่คือ “ขยะแอพ" ของสมาร์ทโฟนที่ยอมให้ถูกเขี่ยไปเขี่ยมาตามกิเลสตัณหาของผู้มีอำนาจหรือกลุ่มคนที่อยู่เหนือกฎหมาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ