สธ.เผยอุบัติเหตุเป็นปัจจัยหลักทำแนวโน้มผู้พิการเพิ่มเฉลี่ย 1 แสนราย/ปี

ข่าวทั่วไป Monday January 30, 2012 14:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รมว.สาธารณสุข(สธ.) เผยสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานจำนวนผู้พิการในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเฉลี่ยปีละกว่า 1 แสนราย โดยปัจจุบันทั่วประเทศมีผู้พิการ 1,207,833 ราย พบมากสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 457,877 ราย รองลงมาคือภาคเหนือ 275,842 ราย ภาคกลางและตะวันออก 251,131 ราย ภาคใต้ 134,066 ราย และกรุงเทพฯ 43,629 ราย โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัญหาอุบัติเหตุทางถนน

"สาเหตุที่ทำให้ผู้พิการเพิ่มสูงขึ้นมาจากปัญหาอุบัติเหตุทางถนน และการมีพฤติกรรมในการขับขี่ไม่ถูกต้อง เช่น เมาแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัย ตลอดจนปัญหาผู้สูงวัยที่มีโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น อัมพาต" นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข กล่าว

รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า สิ่งที่ผู้พิการส่วนใหญ่ต้องการความช่วยเหลือ คือด้านการรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ และการมีงานทำ ซึ่งกระทรวงฯ ได้มอบหมายให้ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ จัดทำโครงการพัฒนาประสิทธิภาพระบบการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาโรงพยาบาลอำเภอต้นแบบ ในการบริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนใน 4 ภูมิภาค โดยร่วมมือกับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จ.จันทบุรี นำร่องในโรงพยาบาล 4 แห่ง ได้แก่ รพ.นายายอาม จ.จันทบุรี, รพ.แม่ลาว จ.เชียงราย, รพ.ท่าแซะ จ.ชุมพร, รพ.สมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จ.เลย คาดเริ่มดำเนินการได้เดือน ก.พ.55 จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปติดตามดูแล แนะนำ สาธิตให้ความรู้คนพิการ ญาติครอบครัวคนพิการ และชุมชน จะทำให้คนพิการได้รับการดูแลฟื้นฟูที่บ้านดีขึ้น ไม่มีปัญหาแทรกซ้อน จากนั้นจะประเมินผลและขยายผลไปโรงพยาบาลอำเภอทั่วประเทศในปี 2556

2.โครงการพัฒนาระบบการฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยคนพิการจากอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 2 ของผู้บาดเจ็บ โดยพัฒนาแนวทางในการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ พัฒนาเป็นสถานพยาบาลต้นแบบ พัฒนาระบบการส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็วรวมทั้งฐานข้อมูลในการฟื้นฟูระดับประเทศ เสริมสร้างศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผน

เนื่องจากปัญหาในการดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการที่ผ่านมา โดยเฉพาะผู้พิการทางการเคลื่อนไหว หรือทางร่างกาย เช่น ผู้ป่วยอัมพาตทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ผู้บาดเจ็บไขสันหลัง พบว่าหลังจากได้รับการรักษาและฟื้นฟูแล้วจากโรงพยาบาลใหญ่ และกลับไปอยู่ที่บ้าน ผู้ป่วยมักได้รับการฟื้นฟูไม่ต่อเนื่อง เนื่องจากความไม่สะดวกของญาติและตัวผู้ป่วยเอง จึงมักเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น กล้ามเนื้อเกร็ง แขนขาลีบ ข้อติด แผลกดทับ หรือมีอาการเดิมๆ ไม่ดีขึ้น การเตรียมควานพร้อมของชุมชน เช่น การมีส่วนร่วม การเข้าใจ และทักษะจึงเป็นเรื่องสำคัญที่พวกเราจะต้องร่วมกันเพื่อให้เกิดสังคมที่น่าอยู่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ