นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินหน้าโครงการจัดระบบการปลูกข้าวอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการดังกล่าวในเขตชลประทาน 22 จังหวัด ที่มีการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและพื้นที่ใกล้เคียงพื้นที่ระบาด โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2554-2557 รวม 4 ปี ซึ่งโครงการในปี 2555 นี้ กำหนดพื้นที่เป้าหมายดำเนินการจัดระบบปลูกข้าว รวม 1.5 ล้านไร่
ทั้งนี้ มีระบบการปลูกข้าวรวม 4 ระบบ โดยเป็นการปลูกข้าวนาปี ข้าวนาปรัง สลับกับการปลูกพืชหลังนา/พืชปุ๋ยสดสลับกันไปในแต่ละช่วงที่กำหนด ซึ่งเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ร่วมกันตัดสินใจเลือกใช้ระบบที่เหมาะสมในพื้นที่ของตนเอง รวมทั้งส่งเสริมให้มีการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยหลังนาเพื่อเสริมรายได้ หรือปลูกพืชปุ๋ยสดบำรุงดิน โดยภาครัฐช่วยสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชหลังนาและพืชปุ๋ยสด อบรมให้ความรู้ และจัดการด้านการตลาดให้อย่างครบวงจร ในระยะแรกจะดำเนินการในเขตโครงการส่งน้ำลุ่มเจ้าพระยาก่อน เนื่องจากเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศ และเป็นจุดที่เกิดปัญหาในช่วงเวลาที่ผ่านมา
"การจัดระบบการปลูกข้าวจึงถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชาวนาอย่างถาวร เสริมสร้างศักยภาพการผลิตให้สูงขึ้น มีการใช้น้ำในปริมาณที่เหมาะสม มีการบำรุงรักษาดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ ตัดวงจรชีวิตของแมลงศัตรูข้าว และรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อคืนความสมดุลให้กับธรรมชาติ สร้างให้ระบบการผลิตข้าวของประเทศมีความมั่นคงยั่งยืนอีกด้วย"รมว.เกษตรฯ กล่าว
ด้านนายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการจัดระบบการปลูกข้าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดระบบให้มีการปลูกข้าว ปีละไม่เกิน 2 ครั้ง ปรับปรุงบำรุงดิน ซึ่งจะส่งเสริมให้มีการปลูกพืชหลังนา และปุ๋ยพืชสด ตัดวงจรการระบาดของศัตรูข้าว ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ อีกทั้งยังเป็นการรักษาระบบนิเวศในนาข้าวให้มีความสมดุล
เนื่องจากการปลูกข้าวตลอดทั้งปีนั้นจะส่งผลให้ ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เพราะไม่มีการพักดินและไม่มีการบำรุงรักษาดินที่ถูกต้อง ไม่สามารถตัดวงจรชีวิตของแมลงได้ เนื่องจากแมลงศัตรูข้าวมีแหล่งอาหารอย่างอุดมสมบูรณ์ เพราะมีการปลูกข้าวตลอดทั้งปี ขาดความสมดุลทางธรรมชาติของระบบนิเวศในแปลงนา เพราะมีการใช้สารเคมีเป็นจำนวนมากอย่างไม่ถูกต้องสร้างความเสียหายให้กับสภาพแวดล้อมและทำลายสิ่งมีชีวิตที่มีประโยชน์ในแปลงนา และต้นทุนการผลิตข้าวที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเกิดจากการใช้ปัจจัยการผลิตที่ไม่ถูกต้องทั้งปุ๋ยเคมี สารเคมี เมล็ดพันธุ์ รวมทั้งการปฏิบัติงานที่รีบเร่งเพราะมีเวลาจำกัดนั้น จะต้องใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวอายุสั้นเพื่อให้สามารถปลูกได้ปีละ 3 ครั้ง ส่งผลให้ผลผลิตมีคุณภาพไม่ดีขายได้ราคาต่ำ และมีต้นทุนการผลิตที่สูง