"ปลอดประสพ"เผย กยน.ผุด 2 แผนใหญ่ด้านคลังข้อมูล-ระบบเตือนภัยรับมือน้ำท่วม

ข่าวทั่วไป Wednesday February 1, 2012 12:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แถลงความคืบหน้าการจัดทำแผนรับมือน้ำท่วมของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.)ว่า รัฐบาลมีแผนรองรับน้ำในปีนี้แน่นอน โดยระยะเร่งด่วน จะเน้นไปที่การจัดทำคลังข้อมูลและระบบเตือนภัยแบบเรียลไทม์ ด้วยงบประมาณ 3.1 พันล้านบาท และคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในมิ.ย.-ก.ค.นี้ หรือทันก่อนที่ฤดูพายุฝนจะเข้ามา

ทั้งนี้ มี 3 ปัจจัยว่าปริมาณน้ำปีนี้จะมีมากหรือน้อย คือ 1.ปรากฏการณ์ลานิญ่า 2.ภาวะโลกร้อน และ3.ปริมาณน้ำค้างทุ่ง โดยวิธีการป้องกันน้ำท่วมใช้ 4 วิธี คือพร่องน้ำในเขื่อนให้มากที่สุดเมื่อฝนมาจะได้ระบายน้ำได้ทัน ขุดลอกคูคลองให้น้ำไหลลงทะเลเร็วขึ้น ซ่อมแซมประตูระบายน้ำให้ใช้ระบายน้ำด้วยแทนการส่งน้ำอย่างเดียว และกำหนดพื้นที่ป้องกันไม่ให้น้ำเข้าอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ

สำหรับแผนงานขณะนี้จัดทำเสร็จไปแล้ว 2 แผนใหญ่ คือการจัดตั้งคลังข้อมูลแห่งชาติ และการปรับปรุงระบบเตือนภัยแห่งชาติ ที่จะใช้งบประมาณทั้งหมด 3,164 ล้านบาท ดังนี้

การจัดตั้งคลังข้อมูลแห่งชาติใน 5 แผนย่อย ประกอบด้วย การติดตั้งไฮโดรมิเตอร์ (โทรมาตร) ตามลำน้ำและประตูระบายน้ำที่สำคัญ เพื่อวัดความสูงของระดับน้ำ, วัดความแรงของกระแสน้ำ, ติดตั้งเรดาห์ตรวจสอบสถานการณ์ในทะเลและชายฝั่ง, สำรวจระดับน้ำในแม่น้ำและระดับความสูงของตลิ่งในปัจจุบัน

การจัดทำคลังข้อมูลดาวเทียม และภาพถ่ายทางอากาศ ทั้งการตั้งสถานีรับและ ติดตั้งระบบผลิตข้อมูลออกมาเป็นแผนที่

การจัดทำระบบการติดตามและควบคุมอุปกรณ์ ประกอบด้วย ติดตั้ง CCTV ตามประตูระบายน้ำที่สำคัญ, สร้างประตูระบายน้ำอัตโนมัติ (เบื้องต้นนำร่อง 20 แห่ง)

การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลกลาง เชื่อมโยงข้อมูลเรื่องน้ำของหน่วยงานรัฐทุกแห่งเข้าด้วยกัน, สร้าง Control Room, สร้างแบบจำลองวิเคราะห์สถานการณ์, จัดตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วมีทั้งรถและเรือสำหรับเข้าไปจุดที่ถูกน้ำท่วมได้อย่างรวดเร็ว และสร้างศูนย์บริการภาพถ่ายดาวเทียมและภาพถ่ายทางอากาศ ที่ให้หน่วยงานภายนอก ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ได้นำข้อมูลไปศึกษา

และการจัดทำแผนผังแสดงพื้นที่สูง-ต่ำ ครอบคลุมพื้นที่ 1 หมื่นตารางกิโลเมตรทั่วประเทศ เพื่อจะได้รู้ทิศทางที่น้ำจะไหลไป

ในด้านของระบบเตือนภัยแห่งชาติ มี 5 แผนย่อย ประกอบด้วย การเชื่อมระบบข้อมูลการเตือนภัยของทุกหน่วย เช่น กรมทรัพยากรน้ำ , กรมอุตุนิยมวิทยา , ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และกรมชลประทาน ฯลฯ เข้าด้วยกัน

การจัดทำระบบสมาร์ทโฟน ให้มีการแจ้งเตือนภัยทางโทรศัพท์มือถือ

การการกระจายข่าวสารทาง TV., วิทยุ, หนังสือพิมพ์, Internet, E-Mail ฯลฯ

การทำระบบ GIS หรือแผนผังระบบภาพซ้อนระหว่างที่ราบ, พื้นที่เกษตร, อาคารพาณิชย์ และบ้านเรือน

การทำระบบ Call Center ตามบริษัทเอกชนทั่วประเทศ ให้สามารถ Link กับ Call Center ของรัฐบาล

นายปลอดประสพ กล่าวว่า สำหรับแนวคิดเรื่องทำฟลัดเวย์หรือทางน้ำผ่าน จะกำหนดพื้นที่ตั้งแต่ จ.ชัยนาทลงมา ราว 2.4 หมื่นตารางเมตรเป็นพื้นที่ทางน้ำผ่านรวมถึงเป็นแก้มลิง เป็นโครงการระยะสั้น คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการ 2-3 เดือน โดยกระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบ

ส่วนฟลัดไดเวอร์ชั่นหรือทางเบี่ยงน้ำ เป็นโครงการระยะยาวที่ต้องใช้เวลาศึกษา โดยอาจจะทำเป็นคลองเบี่ยงน้ำให้ไหลลงทะเล เช่นเดียวกับที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีคลองเบี่ยงน้ำลงทะเลโดยไม่ผ่านตัวเมือง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ