NGO ออกแถลงการณ์ค้านสร้างเขื่อนกันน้ำรอบนิคมฯ ทำชาวบ้านโดยรอบเดือดร้อน

ข่าวทั่วไป Thursday February 2, 2012 16:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนออกแถลงการณ์คัดค้านการสร้างเขื่อนกั้นน้ำถาวรในพื้นที่รอบเขตนิคมอุสาหกรรมเพื่อป้องกันน้ำท่วม เนื่องจากเห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณโดยรอบเขตนิคมอุตสาหกรรม

"สมาคมฯ ขอประกาศคัดค้านแนวคิด นโยบาย และแผนการดำเนินการดังกล่าวของรัฐบาล" นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าว

นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า หากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคิดจะปกป้องนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวเพื่อหวังเรียกความเชื่อมั่นการลงทุนแล้วละก็มีทางเดียวเท่านั้น คือ รัฐบาลต้องมีแผนหรือมาตรการที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม โดยนำมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมเป็นตัวตั้ง ก่อนที่จะอนุมัติแผนงานหรือเงินทุนสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ไปดำเนินการก่อสร้างเขื่อนหรือผนังกั้นน้ำถาวร

"หากรัฐบาล กยน.และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องยังดื้อดึงหรือไม่สนใจคำทักท้วงนี้ ยังคงเดินหน้าสนับสนุนการสร้างเขื่อนหรือผนังกั้นน้ำถาวรต่อไป สมาคมฯ และชาวบ้าน ชาวชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ดังกล่าวคงไม่สามารถคงไม่สามารถหาทางออกอื่นใดได้ นอกจากการพึ่งอำนาจศาลในการหาข้อยุติในการกระทำดังกล่าวของรัฐบาลและเอกชนได้เท่านั้น" นายศรีสุวรณ กล่าว

ทั้งนี้ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 5 เรื่องคัดค้านการสร้างเขื่อนกั้นน้ำถาวรป้องกันน้ำท่วม หลังมีข่าวรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังได้สนับสนุนให้ธนาคารออมสินเป็นผู้ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสุด 0.01% เป็นเวลากว่า 10 ปี วงเงินกว่า 15,000 ล้านบาท ให้กับผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมทั้งหลายในพื้นที่ที่อยู่ในแนวเส้นทางน้ำผ่าน กู้ไปดำเนินการก่อสร้างเขื่อนหรือผนังกั้นน้ำถาวร ขึ้นล้อมรอบนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ถูกน้ำท่วม หรือมีความเสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วม โดยมีผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(เอดีบี) และจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(ไจก้า) มาร่วมกันวางแผนให้คำปรึกษาในการสร้างเขื่อนตามนิคมต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน อีกทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยอ้างว่าได้มีการประชุมร่วมกันกับรองนายกรัฐมนตรีแล้วได้ข้อสรุปว่า รัฐบาลจะมีการตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือนิคมอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ตั้งแต่การปล่อยกู้ เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับสูบน้ำ และการกู้เพื่อสร้างผนังกั้นน้ำถาวร ดังตัวอย่างโมเดลของเนเธอร์แลนด์ ที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลแต่สามารถอยู่ได้ ซึ่ง ส.อ.ท.เห็นชอบด้วย

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวไม่เคยมีใครหรือหน่วยงานใดเลยที่จะออกมาพูดถึงผลลบหรือผลกระทบอย่างรุนแรง ที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนหรือผนังกั้นน้ำถาวร หรือแม้แต่ข้อเสนอแนะทางออก หรือลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชน โดยรอบนิคมอุตสาหกรรมนั้นๆ ว่าจะลดผลกระทบที่จะต้องเกิดขึ้นกับพวกเขามากขึ้นอย่างไร

"ไม่มีหน่วยงานใดสนใจ ทุกคนทุกหน่วยงานมุ่งแต่จะเอาอกเอาใจผู้ประกอบการนักลงทุน แต่ชุมชนชาวบ้านรอบนิคมอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบ การสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำถาวรอาจทำให้ระดับน้ำท่วมสูงขึ้นในชุมชนรอบข้าง และสร้างความเสียหายให้พื้นที่หลายแห่งโดยรอบที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งรัฐบาลและผู้ประกอบการไม่เคยที่จะไปทำความเข้าใจ และหาทางวางแผนไม่ให้ผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวได้รับความเดือดร้อนหรือไม่มีการกำหนดมาตรการชดเชยเยียวยาที่เหมาะสมเสียก่อนที่จะวางแผนหรือดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว หรือไม่มีมาตรการการแก้ไขปัญหาน้ำหลากอย่างเบ็ดเสร็จแล้วเสียก่อน" นายศรีสุวรรณ กล่าว

นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า รัฐบาลยังไม่กำหนดมาตรการที่ชัดเจนในการจำกัดขอบเขตการไหลของน้ำ ยังทำให้ลักษณะการไหลของน้ำหลากเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ระดับน้ำสูงขึ้น ความเร็วและอัตราการไหลเพิ่มขึ้น ความรุนแรงของคลื่นเปลี่ยนแปลง และเวลาเดินทางของน้ำเพิ่มขึ้น รวมทั้งส่งผลด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น มีผลกระทบต่อระบบนิเวศและแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ รวมทั้งลักษณะภูมิประเทศเดิมที่มีอยู่ ปัญหาเหล่านี้ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมและรัฐบาล ไม่ได้คิดหาคำตอบก่อนที่จะสนับสนุนการสร้างเขื่อนกั้นน้ำหรือผนังกั้นน้ำถาวร ทั้งนี้รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกำลังแก้ปัญหาโดยมีมุมมองเพียงด้านเดียว ในการบริหารจัดการในการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในอนาคต ขาดบริบทของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง โดยกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมอย่างจงใจ ท้าทายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 30 มาตรา 57 มาตรา 58 มาตรา 66 และมาตรา 67 อย่างเจตนา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ