นายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนอยู่เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง โดยคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินความปลอดภัยของเขื่อน ตรวจสอบครั้งล่าสุดเมื่อปลายปี 2554 ที่ผ่านมา ตามจุดต่างๆ ได้แก่ ไหล่เขื่อน ลาดเขื่อน ตีนเขื่อน อุโมงค์ตรวจสอบ อาคารระบายน้ำ อาคารท้ายน้ำ อ่างเก็บน้ำ สภาพทางธรณีวิทยา รวมทั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องกลแล้ว ไม่พบสิ่งผิดปกติใดๆ
นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้เชิญศาสตราจารย์ Loren R. Anderson ศาสตราจารย์อาวุโสทางด้านเขื่อนประจำมหาวิทยาลัยแห่งรัฐยูท่าห์ ซึ่งเป็นที่รู้จักของนานาชาติในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนมาร่วมตรวจสอบ โดยได้ให้ความเห็นว่า เขื่อนศรีนครินทร์เป็นเขื่อนที่มีเสถียรภาพดีมาก ไม่พบความผิดปกติใดๆ รวมทั้ง กฟผ. ยังมีขั้นตอนการบริหารจัดการด้านความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน (DAM SAFTY MANAGEMENT) ที่ชัดเจน การดูแลบำรุงรักษาเขื่อนทำได้ดีมาก พร้อมมีผลการตรวจสอบและการตรวจวัดที่ทันสมัยดีกว่าหลายเขื่อนในต่างประเทศ
ด้านอ.ปริญญา พุทธาภิบาล อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี วิเคราะห์ข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี จากการศึกษาทางสภาพธรณีวิทยา และการตรวจสอบน้ำพุร้อนในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีว่า โอกาสเกิดแผ่นดินไหวเกินกว่า 5 ริกเตอร์ ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากพื้นที่ประเทศไทยมิได้อยู่บริเวณขอบทวีปที่เป็นรอยต่อของเปลือกโลก แต่อยู่บริเวณพื้นที่กึ่งกลางที่สมดุล ทำให้วางใจได้ว่า จะไม่เกิดผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ และไม่เกิดผลกระทบต่อเขื่อนศรีนครินทร์
ทั้งนี้ เขื่อนทุกเขื่อนของ กฟผ. มีการดำเนินการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและบำรุงรักษาเพื่อความปลอดภัยอย่างมีระบบอยู่เป็นประจำ โดยได้นำเอาระบบตรวจวัดข้อมูลแบบอัตโนมัติมาติดตั้งใช้งานที่เขื่อน โดยเป็นระบบตรวจวัดข้อมูลที่ครอบคลุมข้อมูลด้านพฤติกรรมเขื่อน ข้อมูลอุตุ-อุทกวิทยา และข้อมูลแผ่นดินไหว หากมีข้อมูลผิดปกติ สามารถแจ้งเตือนให้ตรวจสอบได้ทันที ซึ่งช่วยให้งานด้านความปลอดภัย
สำหรับเขื่อนต่างๆของ กฟผ. มีประสิทธิภาพ ทัดเทียมมาตรฐานสากล ทำให้มั่นใจได้ว่า ทุกเขื่อนของ กฟผ. มีความมั่นคงปลอดภัยในการใช้งาน มีความปลอดภัยต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ท้ายน้ำของเขื่อน