เอแบคโพลเผย SMEs ส่วนใหญ่ยังไม่ขึ้นค่าแรง ห่วงสินค้าแพง-กระทบธุรกิจ

ข่าวทั่วไป Friday February 10, 2012 10:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ร่วมกับ สมาคมการบริหารงานบุคคล (PAAs) เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง "เสียงสะท้อนของกลุ่ม SMEs ต่อนโยบายรัฐบาลค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน และผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจ" พบว่า กลุ่มตัวอย่างเกินกว่าครึ่ง คือ 56.9% ระบุว่ายังไม่ปรับค่าแรงขั้นต่ำสนองต่อนโยบายรัฐบาล ขณะที่ 38.7% ได้ปรับค่าแรงขั้นต่ำสนองต่อนโยบายรัฐบาลโดยไม่มีการปลดพนักงานออก โดยมีเพียง 4.4% ที่ปรับค่าแรงขั้นต่ำสนองตอบนโยบายรัฐบาล แต่ต้องปลดพนักงานบางส่วนออก

เมื่อถามถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อธุรกิจจากนโยบายการขึ้นเงินเดือน พบว่า อันดับแรก 89% ระบุว่าทำให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น รองลงมา 70.8% ระบุกังวลว่าจะส่งผลกระทบในทางลบต่อการทำธุรกิจ และอีก 70.8% เท่ากัน ระบุว่าทำให้เกิดการขยายตัวลดลงของเศรษฐกิจในประเทศโดยภาพรวม และอันดับสาม 68.5% ระบุว่าความเชื่อมั่นต่อการเข้ามาลงทุนของชาวต่างชาติลดลง

ส่วนการปรับตัวของธุรกิจจากนโยบายการขึ้นเงินเดือน พบว่า ตัวอย่างเกือบ 3 ใน 4 หรือ 72.3% ระบุว่า มีการปรับระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เน้นคุณภาพมากขึ้น รองลงมา 66.7% ระบุว่า มีการจัดทำแผนเพื่อพัฒนาความรู้-ทักษะพนักงานให้มีมากขึ้น และอันดับสาม 65.6% ระบุว่า มีการหาตลาดเพิ่มมากขึ้น

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่ม SMEs เกือบครึ่งหนึ่งหรือ 48.4% ระบุว่า อาจจะใช้เทคโนโลยีแทนการว่าจ้างแรงงาน และอีก 18% ระบุว่า จะลดต้นทุนโดยการจ้างแรงงานต่างด้าวมาทดแทนแรงงานไทย และอีก 12.2% ระบุว่าจะย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แต่มีเพียง 3.2% ที่ระบุจะหยุด/เลิกกิจการ

สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาล พบว่ากลุ่ม SMEs ส่วนใหญ่ 64.9% อยากให้มีการปรับค่อยเป็นค่อยไปในกลุ่มที่มีความพร้อมก่อน ขณะที่ 21.8% อยากให้มีการลดภาษีรายได้นิติบุคคลลงมากกว่าที่เป็นอยู่ และ 8.4% อยากให้รัฐบาลจัดอบรมเฉพาะทางให้กับ SMEs เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ส่วนที่เหลืออีก 4.9% ระบุว่าอยากให้มีการหักคืนภาษี

อนึ่ง ผลสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ จำนวน 715 บริษัท ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 6-9 ก.พ.55


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ