"ปลอดประสพ" เผยมองหาพื้นที่รับน้ำภาคกลางตอนบน-ตอนล่างกว่า 1.5 ล้านไร่

ข่าวทั่วไป Wednesday February 15, 2012 13:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวในระหว่างลงพื้นที่ ในจ.นครสวรรค์ว่ายืนยันว่า จะไม่เกิดน้ำท่วมขนาดใหญ่ในพื้นที่ราบภาคกลาง โดยรัฐบาลได้ดำเนินการจัดพื้นที่แก้มลิงสำหรับรองรับน้ำเรียบร้อยแล้ว ประมาณ 470,000 ไร่ จาก 2,000,000 ไร่ คิดเป็น 23% ยังคงเหลือพื้นที่ภาคกลางตอนบนกับภาคกลางตอนล่าง ซึ่งจะดำเนินการให้ครบ 2,000,000 ไร่

ทั้งนี้ งบประมาณในการฟื้นฟูโครงการป้องกันน้ำท่วมที่รัฐบาลได้อนุมัติโครงการให้ 6 จังหวัด(ชัยนาท พิษณุโลก กำแพงเพชร อุทัยธานี พิจิตร และนครสวรรค์) โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำตอนกลาง ได้ดำเนินการไปแล้ว 195 โครงการ เป็นเงิน 1,360 ล้านบาท และแล้วเสร็จทุกโครงการ

ส่วนการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยใน 6 จังหวัดดังกล่าว จากการสำรวจพบประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจำนวน 234,370 ครอบครัว โดยรัฐบาลได้ให้ช่วยเหลือครบทุกครอบครัวหรือ 100 % โดยใช้เงินงบประมาณจำนวน 1,161 ล้านบาท ในการเยียวยาครอบครัวผู้เสียหาย เช่นเดียวกับการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรครบ 100% ส่วนด้านเกษตร ประมง ปศุสัตว์ รัฐบาลได้ใช้เงินจำนวน 15,456 ล้านบาท ใน 6 จังหวัดดังกล่าว ด้านการเกษตร จังหวัดที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด คือ พิษณุโลก พิจิตร ด้านประมง จังหวัดที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด คือ นครสวรรค์ ทางด้านปศุสัตว์ เสียหายทุกจังหวัดเท่า ๆ กัน

ด้านนายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการช่วยเหลือเกษตรกรว่า เรื่องการบริหารจัดการน้ำให้เชื่อมโยงลุ่มน้ำหลัก ๆ นั้น ถือเป็นเรื่องที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญและเป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะดำเนินการ โดยเฉพาะลุ่มน้ำยมและน่าน อีกทั้งการเชื่อมกันระหว่างคลองเล็กสู่คลองใหญ่ โดยจะดำเนินการดังนี้ 1. เชื่อมลุ่มน้ำน่านและน้ำยม 2. เชื่อมคลองเล็กสู่คลองใหญ่ และเพื่อกระจายน้ำในการบริหารจัดการน้ำลงไปสู่แม่น้ำ 3. ใช้บึงขนาดใหญ่เป็นแก้มลิง ในการเก็บกักน้ำ และเชื่อมบึงเข้าด้วยกันเพื่อให้สามารถจัดการน้ำได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยแบ่งงบประมาณออกเป็น 3 ส่วน 1. ใงบการฟื้นฟู 2. งบเร่งด่วน 3. งบปกติ ซึ่งรัฐบาลได้มีการจัดสรรได้เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จในระยะ 1-2 ปี

ส่วนการจัดหาพื้นที่เกษตรให้เป็นพื้นที่รองรับน้ำ ในบริเวณตอนเหนือของจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น รมว. กษ. ชี้แจงว่า ได้ดำเนินการทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาว โดยมีเป้าหมายว่า ต้องจัดหาพื้นที่ประมาณ 2 ล้านไร่ โดยมอบหมายให้ชลประทานจังหวัดหรือหัวหน้าโครงการชลประทานที่เกี่ยวข้อง เร่งสำรวจพื้นที่ในแต่ละโครงการว่า สามารถรองรับน้ำได้จำนวนเท่าใด และในแต่ละพื้นที่มีชาวบ้านทำอาชีพการเกษตรประเภทใดบ้าง มีจำนวนชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มากน้อยเพียงใด โดยคาดว่าภายในสิ้นเดือน ก.พ. นี้จะสามารถทราบข้อมูลที่ชัดเจน จากนั้นจะประสานกับจังหวัด ซึ่งจะดำเนินการควบคู่กับการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อชดเชยเยียวยา ตลอดจนประชาสัมพันธ์เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ที่สำคัญต้องไม่ทำให้ประชาชนได้รับเดือดร้อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ