นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการลดระดับน้ำในเขื่อน กรณีการปรับปรุง Rule Curve และมีการระบายน้ำตามแผนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้ง จะทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักมีปริมาณน้ำคงเหลือ 45% จากระดับต่ำสุด เช่น เขื่อนสิริกิติ์ ปกติจะเก็บน้ำอยู่ที่ 60% และเหลือพื้นที่อีก 30% ในการเก็บน้ำไว้รองรับน้ำฝน แต่อาจจะส่งผลกระทบใน ช่วงฤดูแล้งบ้าง ถ้าฝนไม่ตกมากตามที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งรัฐบาลจะได้เตรียมมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชนต่อไป
อนึ่ง ในการเดินทางลงพื้นที่ต้นน้ำในวันแรก นายกรัฐมนตรี และคณะ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยเขื่อนสิริกิติ์สามารถเก็บกักน้ำได้ 9,510 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้มีน้ำอยู่ 75% ของความจุ โดยในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูฝน จะบริหารจัดการน้ำในเขื่อนให้เหลือ 45% ของความจุ และตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงสิ้นฤดูฝน ก็จะมีที่ว่างสำหรับเก็บกักน้ำได้อีก 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และหากไม่มีฝนตกมากผิดปกติ ก็จะไม่ทำให้มีน้ำล้นเขื่อนจนเกิดปัญหาอุทกภัย
สำหรับการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนนั้น นายกรัฐมนตรี ขอให้มีการบริหารจัดการให้มีความสัมพันธ์สอดคล้องและประสานกับปริมาณน้ำในทุ่งมากขึ้น รวมถึงการกำหนดพื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยงโดยการติดตั้งกล้องวงจรปิดด้วย
นอกจากนี้ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) กำหนดขั้นตอนประมาณการเกี่ยวกับพายุที่จะเข้ามาและปริมาณน้ำจะมีจำนวนเท่าใด เพื่อจะได้ทราบถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากสถานการณ์ดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องเห็นลำดับแรกคือ ในเรื่องของตัวเลขการพยากรณ์จะต้องมาจากตัวเลขเดียวกัน
ขณะที่การบริหารจัดการน้ำจะต้องคำนึงถึงปริมาณน้ำในทุ่งและน้ำที่อยู่ปลายทางด้วย เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ปลายทางน้อยที่สุด ส่วนการเตือนภัยจะมีการปรับปรุงให้ระบบระบายน้ำเชื่อมต่อกับระบบเตือนภัย เพื่อสามารถนำไปเป็นแผนปฏิบัติในพื้นที่ได้