กรมปศุสัตว์เฝ้าระวังไข้หวัดนก,ปูพรมตรวจตามแนวชายแดน 15 ก.พ.-2 มี.ค.55

ข่าวทั่วไป Thursday February 16, 2012 10:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อธิบดีกรมปศุสัตว์เผยได้จัดกิจกรรมเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก โดยให้เจ้าหน้าที่ทั่วประเทศที่มีพื้นที่ติดต่อกับชายแดนประเทศเพื่อนบ้านลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกทุกหลังคาเรือน พร้อมทั้งสุ่มเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งในสัตว์ปีก (cloacal swab) เพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ พร้อมคุมเข้มการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก เพื่อป้องกัน-เฝ้าระวังไข้หวัดนก พร้อมฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อทุกพื้นที่ตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน

"ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 2 มีนาคม 2555 หากพบสัตว์ปีกป่วยตายให้ทำลายทันที พร้อมขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายงานให้ดำเนินงานอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่ประเทศไทย" นายทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

สำหรับสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศเพื่อนบ้านและทั่วโลกมีความถี่เพิ่มมากขึ้น โดยตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค.54 จนถึงปัจจุบัน องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ(OIE) ได้รายงานการเกิดโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง เวียดนาม กัมพูชา ภูฐาน เนปาล อินเดีย บังคลาเทศ อิหร่าน และแอฟริกาใต้

ขณะเดียวกันองค์กรอนามัยโลก(WHO)ได้รายงานพบการติดเชื้อไข้หวัดนกในคนในประเทศ จีน อียิปต์ อินโดนีเซีย กัมพูชา และเวียดนาม ประกอบกับสภาพอากาศในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงบ่อย มีฝนตกสลับอากาศหนาว ทำให้สัตว์ปีกมีสภาพอ่อนแอ เจ็บป่วยได้ง่าย ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงที่โรคไข้หวัดนกจะกลับมาแพร่ระบาดในประเทศไทย

ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันและค้นหาโรคไข้หวัดนกให้พบอย่างรวดเร็วเพื่อจะได้ควบคุมไม่ให้แพร่ระบาดออกไปกรมปศุสัตว์จึงได้กำหนดให้ดำเนินกิจกรรมเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกและฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่ตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ระหว่างวันที่ 15 ก.พ.-2 มี.ค.55 โดยให้ทุกจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศกัมพูชา ลาว และพม่า ซึ่งได้แก่ จังหวัดระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรีราชบุรี กาญจนบุรี ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เลย หนองคาย บึงกาฬ มุกดาหาร นครพนม อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สุรินทร์ สระแก้ว จันทบุรี และตราด โดยให้เจ้าหน้าที่และเครือข่ายลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกทุกหลังคาเรือน หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติให้ทำลายทันที และฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยง สุ่มเก็บตัวอย่าง cloacal swab ในสัตว์ปีกที่เลี้ยงบริเวณบ้านในทุกหมู่บ้านของตำบลตามแนวชายแดน เพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อไป และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดตรวจสอบการลักลอบการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกเข้าออกตามแนวชายแดนพร้อมทั้งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้วางมาตรการป้องกันโรคตามแนวชายแดน โดย 1.ไม่อนุญาตให้นำไก่ เป็ด ห่าน และนก รวมถึงไข่ที่ใช้สำหรับทำพันธุ์ และซากสัตว์ปีก ดังกล่าวจากประเทศที่มีรายงานการระบาดของโรคไข้หวัดนกเข้าราชอาณาจักรจนกว่าสถานการณ์โรคจะสงบ

2.ด่านกักกันสัตว์ร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบแนวชายแดน เช่น ศุลกากร ด่านตรวจคน เข้าเมือง ทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน เป็นต้น ตรวจสอบ ตรวจค้นผู้ที่เดินทางเข้าประเทศอย่างละเอียดว่ามีการลักลอบนำสัตว์ปีกหรือซากสัตว์ปีกเข้าราชอาณาจักรหรือไม่ ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน เรือ รถเข็น ตลอดจนการเดินเท้าเข้ามา หากพบการกระทำผิดให้จับกุมดำเนินคดี ยึดของกลางเพื่อตรวจพิสูจน์ หากพบว่าเป็นโรคระบาดหรือพาหะของโรคระบาดให้ทำลายตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ต่อไป

3.เจ้าหน้าที่ของด่านกักกันสัตว์ตั้งจุดพ่นยาฆ่าเชื้อในบริเวณจุดผ่านแดน โดยให้พ่นยานพาหนะทุกคันที่สงสัยว่ามีการปนเปื้อนเชื้อโรค ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน ตลอดจนรถเข็น โดยเน้นให้ฉีดพ่นด้วยเครื่องพ่นยาฆ่าเชื้อแรงดันสูงที่ล้อรถและบริเวณใต้ท้องรถ หากเป็นรถบรรทุกสัตว์ให้ฉีดพ่นทั้งบริเวณที่บรรทุกสัตว์ให้เปียกชุ่ม

4.ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนบริเวณแนวชายแดน ตลอดจนผู้ที่เดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักรให้ระมัดระวังป้องกันโรคไข้หวัดนก ตลอดจนขอความร่วมมือในการแจ้งเบาะแสการลักลอบนำเข้าสัตว์ปีกและซากสัตว์ปีก

5.หน่วยงานที่รับผิดชอบบริเวณแนวชายแดนมีการพบปะหารือ และแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านโรคระบาดสัตว์ ระหว่างเจ้าหน้าที่ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นประจำทั้งอย่างเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ

6.ด่านกักกันสัตว์ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการลาดตระเวนดักซุ่มหาข่าวการลักลอบนำเข้าสัตว์และซากสัตว์เป็นประจำ พร้อมทั้งดำเนินคดีผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด

และ 7.ขอความร่วมมือจากหน่วยงานทุกฝ่ายให้ดำเนินงานอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่ประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ