นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังการบรรยายสรุปแผนงาน/โครงการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่กลางน้ำตอนล่าง (จังหวัดสุพรรณบุรี อยุธยา ปราจีนบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี และนครนายก) และพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัยแก่นายกรัฐมนตรีว่า พื้นที่กลางน้ำตอนล่างจะสามารถรองรับน้ำได้ทั้งสิ้นประมาณ 969,140 ไร่
ในส่วนของการป้องกันระดับโรงงานภายในนิคมอุตสาหกรรมนั้น ผู้ประกอบการจะต้องป้องกันโรงงานของตนเองในเบื้องต้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าของแผนป้องกันน้ำท่วมของภาครัฐ ซึ่งทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับการจัดสรรงบประมาณจากงบกลางประจำปี 55 เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ในด้านการสนับสนุนผู้ประกอบการในส่วนอื่นนั้น จะมีการจัดตั้งกองทุนประกันภัย การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และการยกเว้นภาษีเครื่องจักรต่าง ๆ
สำหรับข้อเสนอ 4 ประเด็น ที่ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย 1) ให้ภาครัฐกำหนดแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน มิใช่เพื่อป้องกันนิคมอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ต้องรวมไปถึงการจัดการด้านโลจิสติกส์และระบบกระจายสินค้า การจัดระบบการคมนาคมขนส่ง และการเดินทางเข้าออกนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกรณีที่เกิดน้ำท่วมเป็นเวลานาน
2) เสนอแนะให้มีการผันน้ำจากพื้นที่เหนือจังหวัดนครสวรรค์ไปทางฝั่งตะวันออก ผ่านจังหวัดลพบุรี สระบุรี และฉะเชิงเทรา โดยพิจารณาความเหมาะสมในการจัดสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและช่วยกัดเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งในพื้นที่ฝั่งตะวันออกที่ขาดแคลนน้ำ
3) แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายสมทบ ค่าก่อสร้างเขื่อน กำแพง และแนวคันดินป้องกันน้ำท่วม ให้ผู้ประกอบการภายในนิคมอุตสาหกรรมทราบอย่างชัดเจน
4) ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและผู้ประกอบการทราบถึงความก้าวหน้าของการดำเนินการตามแผนป้องกันอุทกภัยนอกนิคมอุตสาหกรรม และเปิดเผยข้อมูลระดับน้ำในแต่ละพื้นที่ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง โดยใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนผู้ประกอบการได้แสดงความชื่นชมในความตั้งใจของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในการดำเนินการป้องกันปัญหาอุทกภัย และเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะดูแลประชาชนได้อย่างดีที่สุด
ด้านน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ต้นน้ำและกลางน้ำว่า ได้มอบหมายให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การควบคุมระดับน้ำในเขื่อนของ 2 เขื่อนใหญ่ ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนภูมิพล รวมทั้งควบคุมการพร่องน้ำก่อนลงสู่พื้นที่ตอนกลางบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นจุดบรรจบรวมของแม่น้ำ 4 สาย
นอกจากนี้ การระบายน้ำลงสู่พื้นที่กลางน้ำตอนบนและการผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำจะให้ความสำคัญกับการเชื่อมบึงธรรมชาติด้วยคลอง เชื่อมคลองเล็กสู่คลองใหญ่ และผันน้ำจากคลองสู่ลุ่มน้ำ จึงจำเป็นต้องขุดลอกคูคลองที่มีอยู่ทั้งหมด เพื่อให้น้ำไหลเชื่อมกันได้ในรูปแบบโครงข่ายน้ำ(Water Grid System) รวมทั้งต้องปรับปรุงและซ่อมแซมประตูน้ำที่มีปัญหาในปีกอน เช่น ประตูน้ำบางโฉมศรี เป็นต้น
ส่วนการกำหนดพื้นที่รับน้ำในเขตจังหวัดกลางน้ำตอนบนและตอนล่าง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้มีความต้องการพื้นที่รับน้ำ จำนวน 2 ล้านไร่ จึงจำเป็นต้องจัดหาพื้นที่แก้มลิงเพิ่มเติมใน 2 ส่วน คือ บึงธรรมชาติและพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำที่ต่ำสุดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยให้ทำความเข้าใจกับประชาชนถึงความจำเป็นในการป้องกันอุทกภัยของประเทศ รวมถึงได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมเป็นเจ้าภาพในสร้างแนวกำแพงป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ปลายน้ำ เพื่อป้องกันพื้นที่อุตสาหกรรม และพื้นที่เขตชุมชนเมือง โดยพิจารณาถึงความเชื่อมโยงกับถนนทางหลวง และคันกั้นน้ำรอบเมือง