"อภิสิทธิ์"ชี้รัฐบาลสอบตกแก้น้ำท่วมบอกการบ้านไม่เสร็จ

ข่าวทั่วไป Sunday February 19, 2012 14:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในงานเสวนา ตรวจการบ้าน ทัวร์น้ำท่วม คนไทยได้อะไร ว่า การบ้านที่ตนเองได้ให้ นายกรัฐมนตรี ไว้ 10 ข้อ ก่อนลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาน้ำท่วม บริเวณต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ พบว่า รัฐบาลยังต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพราะยังไม่มีความชัดเจนในหลายเรื่อง ทั้งกรณีการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท ซึ่งรัฐบาลก็ยอมรับว่า ได้จ่ายเพียงร้อยละ 49 ขณะที่เงินชดเชย 20,000 - 30,000 บาท มีการจ่ายได้แค่ร้อยละ 2 - 3 เท่านั้น ส่วนการกำหนดพื้นที่รับน้ำ (ฟลัดเวย์) ยังคงเป็นเพียงแค่การระบุตัวเลข ไม่มีคำตอบว่าจะใช้พื้นที่ใดบ้าง หรือมีหลักเกณฑ์จ่ายเงินชดเชยอย่างไร ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน ซึ่งผู้ที่รู้ในรายละเอียด กลับเป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ของ นายกรัฐมนตรี ยังไม่พบว่ามีโครงการใดที่มีความจำเป็นเร่งด่วน จนต้องออกพระราชกำหนดกู้เงิน 350,000 ล้านบาท ตามที่รัฐบาลอ้าง และหวังว่าปีนี้รัฐบาลจะบริหารจัดการน้ำตามหลักวิชาการ

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมการอำนวยการ กำกับ ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) กล่าวว่า การลงพื้นที่ทัวร์ลุ่มน้ำของ นายกรัฐมนตรี เป็นการมุ่งใช้งบประมาณ แต่ยังไม่มีรายละเอียดในการใช้จ่ายเงิน ไม่มีความโปร่งใส รวมถึงขาดการบริหารงานแบบบูรณาการ อีกทั้งยังไม่มีแผนงานใหม่ เป็นการดำเนินงานในสิ่งที่เคยทำมาแล้ว รวมถึงขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะการกำหนดพื้นที่รับน้ำ หรือพื้นที่ฟลัดเวย์ ซึ่งรัฐบาลจำเป็นจะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องนี้ด้วย

นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องรีบดำเนินการคือ การหารือกับ 4 ส่วนราชการสำคัญ ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต กรมชลประทาน กรมอุทกศาสตร์ และกรมอุตุนิยมวิทยา และควรนำปัญหาวิกฤติอุทกภัยเมื่อปีที่ผ่านมาเป็นบทเรียน เพื่อป้องกันความผิดพลาดซ้ำสอง ทั้งนี้ การทัวร์นกขมิ้นของ นายกรัฐมนตรี สอบตกทุกพื้นที่เช่น การสำรวจพื้นที่ต้นน้ำ บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยายังบกพร่อง เนื่องจากยังไม่มีการตรวจสอบประตูระบายน้ำทั้ง 14 บาน และเขื่อนที่พังเสียหายกว่า 20 จุด อีกทั้งยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญมาบริหารจัดการน้ำ แต่ยังมีนักการเมืองและผู้ไม่มีผู้มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการน้ำ เข้ามายุ่งเกี่ยว ซึ่งหากไม่มีการเข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ จะทำให้ไม่สามารถรับมือกับน้ำท่วมได้อีก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ