เอแบคโพลเผยปชช.กังวลก่อการร้าย แนะรัฐเร่งเรียกความเชื่อมั่นคืน

ข่าวทั่วไป Thursday February 23, 2012 10:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ เผยผลสำรวจเสียงสะท้อนต่อการวิเคราะห์สถานการณ์และแนวนโยบายยุทธศาสตร์แก้ปัญหาการก่อการร้าย หลังพบว่าประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.7 มีความกังวลต่อการก่อการร้าย เนื่องจากส่วนใหญ่เป้าหมายของขบวนการก่อการร้ายเป็นเรื่องความรุนแรงทางการเมืองที่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มพลเรือนที่บริสุทธิ์

นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการหลักสูตร Analysis of Polling, Policy, Law, and Economics หรือ A.P.P.L.E. ด้านการบูรณาการวาระประชาชน นโยบายสาธารณะ กฎหมาย และเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าวทางสำนักวิจัยฯ พร้อมด้วยคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของนานาประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยคอร์เนล มหาวิทยาลัยมิชิแกน และสถาบันการศึกษาและวิจัยของกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นต้น เสนอแนะทางออกให้ภาครัฐและเอกชนผ่านพ้นวิกฤตขององค์กร ชุมชน และประเทศโดยส่วนรวม ซึ่งทางออกที่น่าพิจารณาของปัญหาการก่อการร้าย ดังนี้

จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่รวดเร็วฉับไวและมีประสิทธิภาพในการเรียกความเชื่อมั่นของสาธารณชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศกลับคืนมา แต่จำเป็นต้องให้ประชาชนทั่วไปโดยส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าการโต้ตอบและความรวดเร็วฉับไวต่อปัญหาการก่อการร้ายเพื่อรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนนั้นอาจกระทบต่อความสะดวกสบายและเสรีภาพบางประการของประชาชน

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการทำสงครามกับขบวนการก่อการร้ายและอาชญากรรมทุกรูปแบบคือ การป้องกันการโจมตี การจับกุมขบวนการก่อการร้ายได้ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนก่อนที่พวกเขาจะเริ่มปฏิบัติการ ซึ่งหมายถึงรัฐต้องมีความเชี่ยวชาญด้านการข่าว ความร่วมเป็นหูเป็นตาของประชาชน ความใส่ใจและความรวดเร็วฉับไวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครองและหน่วยงานความมั่นคงที่ไม่เพิกเฉยต่อการแจ้งเบาะแสของประชาชน

ทั้งนี้ ฝ่ายการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องหันกลับมาพิจารณาตนเองว่า ใส่ใจมากน้อยเพียงไรต่อการแจ้งเบาะแสและรวดเร็วฉับไวต่อการลงพื้นที่ที่ได้รับแจ้งเหตุ มีปฏิภาณไหวพริบต่อความผิดปกติของการเคลื่อนไหวรวมตัวกันของกลุ่มคน ยานพาหนะและการเคลื่อนย้ายวัตถุต้องสงสัยมากน้อยเพียงไร

ดังนั้น จำเป็นต้องมีการบูรณาการหน่วยงานความมั่นคงอย่างแท้จริง จำเป็นต้องมีห้องวอร์รูมปฏิบัติการ 24 ชั่วโมงในช่วงที่มีการยกระดับความเสี่ยงสูง แต่ต้องลดการให้ข่าวของเจ้าหน้าที่ สื่อมวลชนต้องนำเสนอข่าวที่ไม่เข้าทางหรือไปตามเป้าหมายของขบวนการก่อการร้าย ต้องลดช่องว่างและทำลายกำแพงระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันเอง ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนกับประชาชนในชุมชนต่างๆ ที่ร่วมเป็นหูเป็นตาเป็นระบบโซเชียลเน็ตเวิร์คลดความเสี่ยงต่อการก่อการร้ายและอาชญากรรมอย่างจริงจังต่อเนื่อง เพิ่มการเฝ้าระวังและมีศูนย์รวมข้อมูลการตัดสินใจด้วยห้องวอร์รูมที่สำนักงานใหญ่ แต่ละกองบังคับการของกองบัญชาการตำรวจนครบาลมีห้องวอร์รูมทั้ง 9 พื้นที่ มีกล้องซีซีทีวี มีการดักฟังโทรศัพท์ การแกะรอยแหล่งเงินทุนสนับสนุนการก่อการร้าย แหล่งฟอกเงิน เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการเอ็กซ์เรย์วัตถุระเบิดและสารตั้งต้น การตั้งจุดตรวจค้นยานพาหนะของพลเรือนและรถโดยสารสาธารณะ การตรวจค้นด้วยสุนัขดมกลิ่นที่สนามบิน แหล่งท่องเที่ยว และย่านธุรกิจ การส่งหน่วยชำนาญการพิเศษด้านการก่อการร้ายปะปนไปกับฝูงชน การให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารแต่งเครื่องแบบที่สง่างามแต่พร้อมอาวุธที่ทันสมัยดูดี ดูสมาร์ท ประจำจุดต่างๆ ในแหล่งท่องเที่ยว และการมีรถสายตรวจที่ทันสมัยเปิดสัญญาณไฟว่ากำลังเฝ้าระวังเหตุในจุดเสี่ยงสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณชน ที่สำคัญสุดคือ การปฏิรูประบบการตรวจคนเข้าเมืองที่ทันสมัยแบบออนไลน์ครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งเรื่องภาพถ่าย ลายนิ้วมือ และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้าน DNA เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ