รมว.สาธารณสุขประชุม 19 พื้นที่เสี่ยงหวัดนกเตรียมพร้อมเฝ้าระวัง-ป้องกัน

ข่าวทั่วไป Thursday March 1, 2012 15:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ประชุมผู้บริหารและผู้รับผิดชอบงานป้องกันโรคไข้หวัดนกในพื้นที่เสี่ยง และพื้นที่จังหวัดชายแดน รวม 43 จังหวัด จำนวนกว่า 300 คน เพื่อเร่งรัดการเตรียมความพร้อมป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนกหรือเชื้อไวรัสเอช 5 เอ็น 1 (H5N1) ในพื้นที่ในปี 55 นี้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นใจต่อความปลอดภัยด้านสุขภาพของประชาชน

นายวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้การระบาดของโรคไข้หวัดนกที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเพื่อนบ้านของไทยมีความถี่ขึ้นในปี 55 ตั้งแต่ 1 มกราคม — 24 กุมภาพันธ์ องค์การอนามัยโลกรายงานพบเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ปีก 8 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ ภูฏาน เขตปกครองพิเศษฮ่องกง อินเดีย อิหร่าน เนปาล เวียดนาม และแอฟริกาใต้ และมีรายงานพบผู้ป่วยไข้หวัดนกในคน 8 ราย เสียชีวิต 6 ราย ใน 5 ประเทศ ได้แก่ อียิปต์ จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และกัมพูชา

สำหรับประเทศไทย ไม่พบผู้ป่วยไข้หวัดนกรายใหม่เป็นเวลากว่า 5 ปี หลังจากที่พบผู้ป่วยรายสุดท้ายเมื่อปี 49 และไม่พบสัตว์ปีกติดเชื้อเป็นเวลามากกว่า 3 ปี แสดงให้เห็นว่าบุคลากรและระบบงานป้องกันควบคุมโรค ทั้งในคนและสัตว์ปีกของประเทศไทยได้ผลดี เป็นตัวอย่างแก่ประเทศต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดโรคในสัตว์ปีก และมีความเสี่ยงการเกิดโรคในคน เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านยังมีไข้หวัดนกระบาดในสัตว์ปีก ดังนั้นจึงต้องเร่งรัดมาตรการทั้งการเฝ้าระวังโรคในสัตว์ปีกและในคน เพื่อรักษาความเข้มแข็งไม่ให้มีการระบาดในประเทศ และเตรียมความพร้อมในการควบคุมโรคที่อาจเกิดขึ้น

รมว.สาธารณสุข กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด มิสเตอร์ไข้หวัดนก ผู้อำนวยการโรงพยาบาล สาธารณสุขอำเภอ ผู้อำนวยการ รพ.สต. เจ้าหน้าที่สาธารณสุขรวมทั้งอสม.ทั้ง 19 จังหวัด เร่งรัดดำเนินการตามนโยบาย 6 ข้อ ดังนี้ 1.เฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที

2.ร่วมมือเฝ้าระวังและควบคุมโรคไข้หวัดนก โดยประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่กรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อเฝ้าระวังโรคในสัตว์ปีกและนกธรรมชาติ ดูแลการนำเข้าสัตว์ปีกในบริเวณชายแดน แนะนำการเลี้ยงสัตว์ปีกอย่างปลอดภัยในชุมชน หากพบการระบาดในสัตว์ ให้รีบแจ้งเตือนโรงพยาบาลในพื้นที่ให้เตรียมพร้อมการดูแลผู้ป่วยทันที

3.แจ้งเตือนประชาชนระวังภัยไข้หวัดนก ได้รับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึง ทั้งการป้องกันการติดเชื้อจากสัตว์ปีก และการป้องกันสัตว์ปีกให้ปลอดภัยจากไข้หวัดนก 4.เพิ่มการตรวจจับการระบาด โดยเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เมื่อพบผู้ป่วยปอดบวมร่วมกับมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกหรือปอดบวม เสียชีวิตไม่ทราบสาเหตุ

5.ให้รีบสอบสวนโรค โดยทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วหรือเอสอาร์อาร์ที (SRRT) เมื่อพบหรือได้รับรายงานว่าพบผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นไข้หวัดนก และ 6.ดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ได้มาตรฐาน โดยเผยแพร่ข้อมูลความรู้และแนวทางปฏิบัติในการคัดกรองและการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก ให้แพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชนภายในพื้นที่ทราบอย่างทั่วถึง และสั่งการให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

ด้านนพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลการเฝ้าระวังเชื้อไวรัสไข้หวัดนกในประเทศไทยจนถึงขณะนี้ ยังไม่พบการกลายพันธุ์ แต่อย่างไรก็ตามเชื้อไวรัสนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมอยู่เสมอตามธรรมชาติจึงมีโอกาสกลายพันธุ์ และมีสัตว์ปีกเป็นตัวแพร่เชื้อจึงยังคงมีความเสี่ยงต่อการเกิดระบาดใหญ่อยู่ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้สำรองยาต้านไวรัส 2 ชนิดในโรงพยาบาลทุกแห่ง เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วย คือยาโอเซลทามิเวียร์และยาซานามิเวียร์ ซึ่งยานี้ยังใช้รักษาได้ผลดี

ไทยพบผู้ป่วยไข้หวัดนกระหว่างเดือนมกราคม 47 ถึงเดือนกรกฎาคม 49 รวม 25 คน เสียชีวิต 17 คน ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลก ตั้งแต่ปี 46-24 กุมภาพันธ์ 55 พบผู้ป่วยไข้หวัดนก 587 ราย เสียชีวิต 345 ราย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ