นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ ตอบกระทู้ถามด่วนในการประชุมวุฒิสภาถึงแผนบริหารจัดการน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิตติ์เพื่อรับมือปัญหาน้ำท่วมว่า รัฐบาลมีเป้าหมายว่าต้นฤดูฝนตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนทั้งในส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ กรมชลประทาน เขื่อนภูมิพลและสิริกิตติ์ จะใช้เกณฑ์กักเก็บน้ำ 45% แบ่งเป็น เขื่อนภูมิพลมีน้ำในเขื่อนประมาณ 6 พันล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิตติ์เหลือน้ำประมาณ 4 พันล้านลูกบาศก์เมตร
โดยรัฐบาลมีการวางแผนให้เขื่อนภูมิพลจะให้มีน้ำในเขื่อนประมาณ 71% ส่วนเขื่อนสิริกิตติ์จะให้เหลือ 70% ณ วันที่ 1 มี.ค. ส่วนในวันที่ 1 เม.ย.เขื่อนภูมิพลและสิริกิตติ์ หวังว่าจะมีน้ำเหลือประมาณ 58% โดยวันนี้การระบายของทั้งสองเขื่อนก็กำลังดำเนินการอยู่ เขื่อนภูมิพลระบายวันละ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนเขื่อนสิริกิตติ์วันละ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร
"เท่ากับว่า ณ วันที่ 1 พ.ค.เขื่อนสิริกิตติ์จะมีพื้นที่ว่างรองรับประมาณ 5.2 พันล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนภูมิพลประมาณ 7.4 พันล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งสองเขื่อนรวมกันพื้นที่ว่างรองรับประมาณ 1.2 หมื่นล้านลูกบาศ์กเมตร ซึ่งคิดว่าเพียงพอที่จะรองรับปริมาณน้ำฝนได้" รมว.เกษตรฯ กล่าว
ด้านพล.ต.ท.ชัจน์ กุลดิลก รมช.คมนาคม กล่าวว่า กรมเจ้าท่ามีโครงการขุดลอกคูคลอง 7 ลุ่มน้ำ 26 ต้นน้ำ ระยะเวลาดำเนินการตามแผน 8 เดือน เสร็จ ก.ย.2555 งบประมาณ 1,215 ล้านบาท เริ่มดำเนินการต้นมี.ค.นี้ ขุดลอกสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีนวงเงิน 277 ล้านบาท โครงการขุดลอกแม่น้ำสายหลัก 2 ลุ่มน้ำ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำยม 418 ล้านบาท ส่วนการดำเนินการกับผู้บุกรุกแนวลำน้ำสาธารณะเตรียมปักหมุดจีพีเอส ดาวเทียม 1.8 หมื่นหลักทั่วประเทศใน 5 ปี โดยปี 2555 ภาคเหนือ 1.2 พันหลัก อยู่ระหว่างหาผู้รับจ้าง ให้เป็นตามเกณฑ์กฎกระทรวง ผังเมืองท้องถิ่น