In Focusโหวต "7 เมืองมหัศจรรย์โลกยุคใหม่"...มหกรรมการแหกตาและโฆษณาชวนเชื่อ?

ข่าวต่างประเทศ Tuesday March 6, 2012 13:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

และแล้วก็มาถึงกิจกรรมการโหวตเลือก 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ในส่วนของเมือง (New 7 Wonders Cities) แม้ว่าโครงการโหวตล่าสุดคือ 7 สิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติของโลกยุคใหม่ (New 7 Wonders of Nature) ที่มีการประกาศผลกันไปเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2554 ซึ่งตรงกับวันที่เลขสวย (11/11/11) จะปิดฉากไปพร้อมกับความกังขาและคำครหา โดยเฉพาะประเด็นความไม่ชอบมาพากลของเจ้าภาพ และลับลมคมในความไม่โปร่งใสของการโหวตผ่านเอสเอ็มเอส และเว็บไซต์

ที่มาที่ไปของการโละของเก่า...เลือกของใหม่

โครงการโหวตเลือกสิ่งล้ำค่าของโลกนี้ประเดิมด้วยการเลือก "7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่" (New 7 Wonders of the World) ในปี 2007 ซึ่งถือเอาฤกษ์ดีเลขสวย 07/07/07 เป็นวันประกาศผล โดยผู้ริเริ่มโครงการ คือ นายเบอร์นาร์ด เวเบอร์ นักธุรกิจ นักเดินทางและผู้สร้างภาพยนตร์ชาวสวิตเซอร์แลนด์ โดยก่อตั้ง บริษัท นิว โอเพน เวิลด์ คอร์ปอเรชัน (NOWC) และมูลนิธิ New 7 Wonders มาตั้งแต่เดือนก.ย. ปี 1999 เพื่อสำรวจและคัดเลือกสถานที่ที่สมควรเป็นสมบัติล้ำค่าล่าสุดของโลกโดยเฉพาะ

เกณฑ์การคัดเลือกมี 4 ประการ คือ ต้องเป็นสถานที่ที่สร้างโดยฝีมือมนุษย์, อยู่ในสภาพสมบูรณ์มีการบูรณะสม่ำเสมอ, มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม และสร้างก่อนปี 2000 โดยสิ่งมหัศจรรย์โลกยุคใหม่ทั้ง 7 จากคะแนนโหวตทั่วโลก ประกอบด้วย ชิเชน อิตซา ของเม็กซิโก, ไครส์ เดอะ รีดีมเมอร์ ของบราซิล, สนามกีฬาโคลอสเซียม ของอิตาลี, กำแพงเมืองจีน, มาชู ปิกชู ของเปรู, นครสีชมพูเพตรา ของจอร์แดน และทัชมาฮาลของอินเดีย ผู้จัดอ้างว่ามีผู้ร่วมโหวตกว่า 100 ล้านคนทั่วโลก

โครงการแรกนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จนเสียศูนย์ไปไม่น้อย ทั้งเรื่องที่บรรดาสิ่งมหัศจรรย์เดิมๆ ติดโผมาแค่ 3 แห่ง (พีระมิดของอียิปต์ไม่ติด 1 ใน 7 แต่ได้รางวัลปลอบใจในฐานะผู้เข้ารอบกิตติมศักดิ์) ส่วนที่เหลือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลกที่โหมโปรโมตกันยกใหญ่ในช่วงที่เปิดให้โหวต นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องความไม่น่าเชื่อถือ ที่บอกว่า มาจาก "ผลโหวตทั่วโลก" เพราะแม้แต่กระทั่งเราๆ ท่านๆ ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีกิจกรรมระดับโลกนี้ด้วยหรือ...บอกให้ไปโหวตเชียร์นางงามของไทยในเวทีมิสยูนิเวิร์สยังจะรู้กันแพร่หลายมากกว่า

หลังจากโครงการนี้จบไป นายเวบเบอร์ก็ผุดโครงการใหม่ขึ้นมาในปีเดียวกัน ในชื่อ "7 สิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติของโลกยุคใหม่" (New 7 Wonders of Nature) โดยคัดเลือกสถานที่ทั้งหมด 440 แห่งใน 220 ประเทศทั่วโลก ให้เหลือเพียง 28 แห่งในรอบสุดท้าย และเช่นกันที่ผู้จัดเลือกที่จะประกาศผลในวันเลขสวย 11/11/11

ผลปรากฎว่า 7 สิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติของโลกยุคใหม่ที่ผ่านการโหวต ได้แก่ เกาะเชจูของเกาหลีใต้, แม่น้ำใต้ดิน เปอร์โต ปรินเซซาของฟิลิปปินส์, ป่าอะเมซอนในอเมริกาใต้, อ่าวฮาลองของเวียดนาม, น้ำตกอีกัวซูในบราซิลและอาร์เจนตินา, อุทยานแห่งชาติเกาะโคโมโดของอินโดนีเซีย และเทือกเขาเทเบิลในแอฟริกาใต้

ความกังขาและคำครหา

โครงการที่สองโดนวิพากษ์วิจารณ์หนักหนาสาหัสกว่าครั้งแรก ไม่ใช่เพราะรายชื่อสถานที่ที่ชนะเลิศไม่เข้าตาใครบางคน แต่เป็นเพราะความไม่โปร่งใสของผู้จัด ซึ่งประกาศตัวยืนยันมาตั้งแต่แรกว่า ทำโดยไม่หวังผลกำไร และดำเนินงานในฐานะมูลนิธิ ในโครงการแรกนั้น ผู้จัดประกาศก่อนเลยว่า รายได้ครึ่งหนึ่งจากการโหวตจะมอบให้สถานที่สำคัญทั่วโลกเพื่อใช้ในการบูรณะและซ่อมแซม โดยเฉพาะพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่เมืองบามิยันในอัฟกานิสถาน ซึ่งถูกกลุ่มตาลีบันทำลายจนยับเยิน แต่ไปๆ มาๆ กลับกลายเป็นการเจียดเงินนิดหน่อยมอบให้กับสถานที่ที่ติดโผทั้งเจ็ด

แต่ละประเทศที่ต้องการผลักดันให้สถานที่ท่องเที่ยวของตัวเองได้เป็นแคนดิเดตในโครงการที่สองนี้ ต้องเสียค่าแรกเข้า 200 ดอลลาร์สหรัฐ แต่นั่นคงไม่ทำให้ขนหน้าแข้งร่วง เมื่อเทียบกับตอนที่คณะสำรวจของมูลนิธิขึ้นบอลลูนติดหมายเลข “7" เดินทางไปเยี่ยมประเทศที่ติดโผในภารกิจ “เวิลด์ทัวร์" ซึ่งเจ้าบ้านต้องต้อนรับขับสู้กันเต็มที่ ไม่ว่าจะกิน อยู่ เดินทาง หรือกระทั่งจัดงานแถลงข่าวให้

ประเด็นนี้ลุกลามใหญ่โตกว่าที่คิด เพราะมัลดีฟส์ ซึ่งเดิมทีเป็นหนึ่งในแคนดิเดตด้วยนั้น ประกาศถอนตัวไม่ร่วมสังฆกรรม หลังจากถูกผู้จัดงานเรียกเก็บเงินถึง 500,000 ดอลลาร์สหรัฐเป็นค่าใช้จ่ายจิปาถะ รวมทั้งทองคำและทองคำขาวอีกเป็นแสนดอลลาร์เป็นค่าสปอนเซอร์ อย่างไรก็ดี ตั้งแต่เริ่มโครงการนั้น มัลดีฟส์ก็ควักกระเป๋าเป็นค่าโปรโมตชวนให้คนโหวตไปแล้ว 12,000 ดอลลาร์สหรัฐ

และที่แสบไปกว่านั้นคือ NOWC บริษัทที่ตั้งขึ้นพร้อมมูลนิธิ New 7 Wonders ยังกดดันให้บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์ในมัลดีฟส์จ่ายค่าเข้าร่วมโครงการถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะมาลดลงเหลือครึ่งหนึ่ง แต่ก็ไร้ประโยชน์ เพราะรัฐบาลประกาศถอนตัว

ส่วนอินโดนีเซีย เพื่อนบ้านของเรา ก็ถูกเล่นงานเอาเหมือนกัน หลังจากออกมาเปิดเผยว่า ถูกผู้จัดขู่จะเขี่ยอินโดนีเซียออกจากลิสต์ ถ้าไม่จ่ายค่าใบอนุญาตร่วมโครงการเป็นเงินถึง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอ้างว่า ต้องหาเงินเป็นค่าใช้จ่ายในวันประกาศผลถึง 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเมื่ออินโดนีเซียขู่จะฟ้องกลับ ทางผู้จัดเลยยอมเลิกรา ทำให้สุดท้ายแล้วอินโดนีเซียก็มีชื่อติด 1 ใน 7 ผู้ชนะเลิศกับเขาด้วย

แม้ทางผู้จัดออกมาปฎิเสธว่าไม่มีการเก็บค่าสปอนเซอร์ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะรายได้ส่วนใหญ่มาจากการบริจาค แต่เงื่อนไขที่ระบุบนเว็บไซต์กลับบอกว่า รายได้หลักของมูลนิธิมาจากสปอนเซอร์ การบริจาค และโฆษณา ไปๆ มาๆ ก็ไม่ชัดเจนว่า ตกลงแล้วเงินหลายสิบล้านดอลลาร์ที่หมดไปกับการจัดงานอย่างอลังการนั้นได้มาจากไหนกันแน่ แถมผู้จัดก็ไม่เคยเปิดเผยแม้กระทั่งว่า แต่ละโครงการนั้นได้รับเงินบริจาคเท่าไร อ้างแต่เพียงว่า ต้องเอาไปเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน

โหวต 7 เมืองมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่

วันที่ 7 มี.ค. 2555 จะเป็นวันแรกที่ผู้จัดเปิดโอกาสให้คนทั่วโลกเข้าไปโหวต 7 เมืองมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ โดยรอบนี้เป็นการคัดเลือกเมือง 300 แห่งทั่วโลกให้เหลือเพียง 77 แห่ง ก่อนจะคัดให้เหลือแค่ 28 แห่งในวันที่ 6 ธ.ค. 2555 จากนั้นเปิดให้โหวตเป็นเวลา 1 ปี จนถึงวันที่ 6 ธ.ค. 2556 และประกาศผลกันในวันที่ 7 ธ.ค. 2556

และเช่นเคยที่ผู้จัดงานชี้ชวนว่า การได้สวมมงกุฎครองตำแหน่ง 7 เมืองมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่นั้น จะทำให้เมืองนั้นๆ กระตุ้นการพัฒนาในด้านต่างๆ เช่น การวางแผนจัดการเขตเมือง ธรรมาภิบาล การท่องเที่ยว และสิ่งปลูกสร้าง

จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ประเทศที่อยากให้ตัวเองเป็นแคนดิเดตหรือกระทั่งทะลุถึงรอบสุดท้ายนั้น ต้องเป็นบรรดาตลาดเกิดใหม่ที่กำลังเร่งพัฒนาอย่างเต็มสูบเพื่อดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ และประเทศเหล่านี้ก็ต้องเดินหน้าโหมโปรโมตรณรงค์ให้คนเลือกเมืองตัวเองกันเต็มที่

แม้ว่าผู้จัดจะบอกว่า มีสิทธิที่เมืองเก่าสุดคลาสสิกอย่างเยรูซาเล็ม เวนิซ หรือเกียวโตจะติดโผ แต่ไม่บอกก็รู้ว่า ภายใต้นิยามของคำว่า 7 เมืองมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ และความเป็น “ซิตี้" นั้น เมืองที่เข้ารอบควรมีคุณสมบัติอย่างไร ส่วนในไทยนั้น กรุงเทพฯ และอีก 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ นครราชสีมา และภูเก็ต ก็ติดโผ 300 เมืองในรอบแรกกับเค้าด้วย

อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ผู้จัดก็ไม่ได้ระบุว่า คุณสมบัติของเมืองที่ติดโผนั้นควรจะประกอบไปด้วยอะไรบ้าง และมีแผนการเดินทางสำรวจทั่วโลกกันหรือไม่อย่างไร บอกแต่เพียงว่า ใครที่อยากร่วมสนุกหรืออยากเสนออะไร ก็เข้าไปฝากข้อความ หรือทำเป็นคลิปลงยูทูบเพื่อสอบถามกับทางมูลนิธิได้

หากใครสนใจก็ลองเข้าไปดูที่ http://www.new7wonders.com/form/nominate/en แต่ขอบอกว่า ความภูมิใจใดๆ ที่ได้จากแรงโหวตของคนทั่วโลกนั้น ไม่สำคัญเท่ากับการที่ทุกคะแนนมาจากความโปร่งใสไร้ข้อกังขา มิเช่นนั้น การโหวตเลือกสิ่งมหัศจรรย์ต่างๆ นานาของโลกยุคใหม่ก็คงจะต้องจอดกันแต่เพียงเท่านี้เป็นแน่...


แท็ก In Focus:   ธรรมชาติ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ