สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นจากประชาชนที่พักอาศัยในกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 1,267 คน ระหว่างวันที่ 9-10 มีนาคม 2555 จากเหตุการณ์ไฟไหม้ในกรุงเทพฯ ถึง 2 ครั้ง ซึ่งเป็นเวลาห่างกันเพียงไม่ถึงสัปดาห์ กลายเป็นประเด็นร้อนที่สังคมต่างให้ความสนใจและมีการนำเสนอข่าวจากสื่อต่างๆอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กรุงเทพมหานครก็ได้มีการเรียกสำนักงานเขต สำนักการโยธามาตรวจสอบอาคารที่ได้รับความเสียหายตลอดจนมาตรการควบคุมดูแลอาคาร ตึกสูงทุกแห่งในกรุงเทพฯ เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นและเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม
โดยพบว่าคนกรุงเทพฯ คิดอย่างไรกับเหตุการณ์ไฟไหม้ตึกสูงใจกลางเมือง ส่วนใหญ่ 48.90% เห็นว่าควรมีระบบการป้องกันอัคคีภัยที่ดีกว่านี้ มีการตรวจเช็คระบบความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ รองลงมา 22.55% สาเหตุน่าจะเกิดจากความประมาท จนเป็นเหตุให้มีทั้งผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ ตลอดจนทรัพย์สินได้รับความเสียหาย 12.08% มองว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้น /รู้สึกกลัวและตกใจ /กลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก 9.46% ส่งผลต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของประเทศเพราะเกิดขึ้นในย่านใจกลางเมือง และ 7.01% ภาครัฐควรตรวจสอบและควบคุมดูแลอาคารสูงให้เข้มงวดกว่านี้โดยให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย
คนกรุงเทพฯ คิดว่าจากเหตุการณ์ไฟไหม้ตึกสูงที่เกิดขึ้นทั้ง 2 แห่งในกรุงเทพฯ ซึ่งห่างกันไม่ถึงสัปดาห์ส่งผลกระทบด้านใดมากที่สุด อันดับ 1 ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน33.35% อันดับ 2 ด้านเศรษฐกิจ /ธุรกิจการลงทุน 27.59% อันดับ 3 ด้านภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือของประเทศ 14.63% อันดับ 4 ด้านการท่องเที่ยว 12.24% และอันดับ 5 ด้านสภาพจิตใจของประชาชน รู้สึกกังวลและกลัว12.19%
ทั้งนี้คนกรุงเทพฯ คิดว่า หน่วยงานใดที่มีความสำคัญมากที่สุดในการเข้ามาช่วยดูแล กรณี เกิดเหตุไฟไหม้ อันดับ 1 หน่วยดับเพลิง /สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 48.54% อันดับ 2 กรุงเทพมหานคร18.13% อันดับ 3 สำนักงานเขต 17.68% อันดับ 4 สำนักการโยธา 15.65%
ในฐานะ ประชาชน จะมีแนวทางป้องกันเหตุไฟไหม้ได้อย่างไร อันดับ 1 ช่วยกันสอดส่องดูแลเป็นหูเป็นตา /ปฏิบัติตามกฎระเบียบการป้องกันอัคคีภัยอย่างเคร่งครัด ไม่ประมาท 51.91% อันดับ 2 มีการซ้อมหนีไฟ ศึกษาหาข้อมูลเพื่อเตรียมพร้อมหรือรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น 25.63% อันดับ 3 มีการติดตั้งอุปกรณ์เตือนภัยหรือถังดับเพลิงไว้ที่บ้าน /ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า ปลั๊กไฟและสวิตช์ไฟ อย่างสม่ำเสมอ 22.46% ภาคเอกชน /เจ้าของธุรกิจ ควรมีแนวทางป้องกันเหตุไฟไหม้ โดยอันดับ 1 เพิ่มมาตรการการป้องกันและเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง /มีความเข้มงวดในระบบรักษาความปลอดภัย 79.58% อันดับ 2 ไม่ต่อเติมหรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างอาคารที่ไม่ได้รับการอนุญาตหรือไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด 11.78% อันดับ 3 มีการอบรมให้ความรู้และมีการซักซ้อมหนีไฟให้กับพนักงานอย่างสม่ำเสมอ 8.64%
สำหรับ กทม. /หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมีแนวทางป้องกันเหตุไฟไหม้ โดยอันดับ 1 ต้องมีการเตรียมพร้อมอยู่เสมอโดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ทั้งอุปกรณ์เครื่องมือ รถดับเพลิง พนักงานดับเพลิงจะต้องไปถึงที่เกิดเหตุอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพในการทำงาน 41.28% อันดับ 2 มีการตรวจสอบอาคารและสิ่งก่อสร้างทั้งเก่าและใหม่ในทุกเขตพื้นที่ของกทม.อย่างเข้มงวดและทั่วถึง 30.79% อันดับ 3 การบังคับใช้กฎหมายที่เด็ดขาด เพิ่มมาตรการการป้องกันภัยที่เหมาะสมกับประเภทของอาคาร และสภาพแวดล้อมในบริเวณนั้นๆ 27.93%
อย่างไรก็ตามคนกรุงเทพฯ 53.93% ไม่ค่อยเชื่อมั่นกับ การป้องกันเหตุไฟไหม้ เพราะ ในระยะหลังมานี้รู้สึกว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นบ่อยครั้งและมักประสบปัญหากับการช่วยเหลือและการกู้ภัยของเจ้าหน้าที่ ส่วน33.09% ค่อนข้างเชื่อมั่น เพราะ หน่วยงานที่รับผิดชอบมีการทำงานที่รวดเร็ว อุปกรณ์ต่างๆมีความพร้อมและทันสมัย ในแต่ละพื้นที่มีหน่วยงานคอยดูแล 10.30% ไม่เชื่อมั่น เพราะ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นย่านใจกลางเมือง ควรมีความปลอดภัยและได้รับการดูแลเอาใจใส่มากกว่านี้ และมีเพียง 2.68% ที่เชื่อมั่น เพราะ ทุกฝ่ายทำดีที่สุดแล้ว เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ฯลฯ
สำหรับบทเรียนที่ได้รับ จากเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนี้ อันดับ 1 อย่าปล่อยให้วัวหายแล้วล้อมคอก นำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาเป็นอุทาหรณ์ เพื่อหาแนวทางป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น 50.43% อันดับ 2 ไม่ควรประมาท มีความตื่นตัวและเพิ่มความระมัดระวัง รอบคอบให้มากกว่านี้ 26.76% และอันดับ 3 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ทุกฝ่ายควรร่วมมือกันในการป้องกันอัคคีภัย 22.81%