In Focusครบรอบ 1 ปีพิบัติภัยถล่มญี่ปุ่น...การเยียวยาที่เชื่องช้า และบทเรียนที่โลกไม่จดจำ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday March 14, 2012 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม 2555 เป็นวันครบรอบ 1 ปี ของเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายรวมกันเกือบ 20,000 คน นอกจากนั้นยังทำให้เกิดวิกฤตนิวเคลียร์ครั้งใหญ่ที่สุดของโลกนับตั้งแต่วิกฤตนิวเคลียร์เชอร์โนบิลเมื่อเกือบ 26 ปีที่แล้ว

ในกรุงโตเกียวเมืองหลวงของประเทศนั้น พิธีรำลึกถึงเหตุการณ์ได้จัดขึ้นอย่างเป็นทางการที่โรงละครแห่งชาติ โดยมีตัวแทนจากครอบครัวผู้สูญเสียเข้าร่วม พิธีเริ่มต้นด้วยการบรรเลงเพลงชาติญี่ปุ่น จากนั้นสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ทรงนำการยืนไว้อาลัยให้ผู้เสียชีวิตเป็นเวลา 1 นาที ณ เวลา 14.46 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเป็นนาทีที่เกิดแผ่นดินไหวความรุนแรงขนาด 9.0 ในพิธีดังกล่าว พระองค์ได้ตรัสว่า ญี่ปุ่นจะไม่มีวันลืมโศกนาฏกรรมที่เลวร้ายครั้งนี้ พร้อมกับขอให้พสกนิกรช่วยกันให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่อไป ด้านนายกรัฐมนตรีโยชิฮิโกะ โนดะ ให้คำมั่นว่า จะเร่งฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายละฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ พร้อมกับยืนยันว่า ญี่ปุ่นจะไม่มีวันลืมน้ำใจไมตรีและความช่วยเหลือจากนานาประเทศ

ขณะเดียวกันก็มีการจัดพิธีรำลึกใน 3 จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ได้แก่ อิวาเตะ มิยากิ และฟูกุชิมะ รวมถึงตามจุดต่างๆทั่วประเทศ อย่างที่เมืองอิชิโมนากิ จังหวัดมิยากิ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ได้มีการเปิดเสียงสัญญาณเตือนภัยเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์คลื่นยักษ์ถล่มเมือง ซึ่งกลืนกินชีวิตผู้คนในเมืองไปเกือบ 4,000 คนในคราวเดียว

ลูกหลานซามูไร กับจิตใจที่แข็งแกร่ง

หลังเกิดโศกนาฏกกรรมครั้งรุนแรงในแดนอาทิตย์อุทัย ความสูญเสีย ความโศกเศร้า และความเสียหาย ไม่ใช่สิ่งเดียวที่โลกได้เห็น แต่ทั่วโลกยังได้เห็นถึงความสงบนิ่ง ความมีระเบียบวินัย ความมีน้ำใจ และความเข้มแข็งอย่างชาวญี่ปุ่น หลายคนคงประทับใจกับภาพผู้ประสบภัยต่อคิวรับอาหารอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์ที่สับสนวุ่นวายเช่นนี้

บัดนี้ เวลาล่วงเลยไปแล้ว 1 ปี ยังมีประชาชนอย่างน้อย 340,000 คนที่ต้องอาศัยอยู่ตามศูนย์พักพิงชั่วคราว ผลสำรวจของสำนักข่าวเอ็นเอชเคของญี่ปุ่นพบว่า 1 ใน 3 ของครอบครัวที่พักอาศัยในศูนย์พักพิงชั่วคราวมีรายได้ลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง และหัวหน้าครอบครัว 1 ใน 5 คนกลายเป็นคนตกงาน กล่าวได้ว่าผู้ประสบภัยจำนวนมากสูญเสียแทบทุกอย่างในชีวิต ทั้งบ้าน ทรัพย์สินเงินทอง งาน หรือแม้แต่คนในครอบครัว ถึงกระนั้น พวกเขาเหล่านี้ก็ไม่ได้นิ่งเฉยรอให้ราชรถมาเกย หัวหน้าครอบครัวต่างพยายามหางานทำเพื่อเลี้ยงครอบครัวต่อไป ขณะที่อีกหลายคนพยายามกลับไปยังบ้านเรือนของตนเพื่อเก็บเศษซากปรักหักพังและขยะที่พัดมากับคลื่นยักษ์อย่างไม่ย่อท้อ เพื่อทำให้ชุมชนและเมืองที่ตนเองอยู่อาศัยกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ด้านเจ้าหน้าที่กู้ภัยยังคงตระเวนไปตามแนวชายฝั่งอย่างไม่ลดละ เพื่อค้นหาผู้สูญหายกว่า 3,000 คน แม้ว่าความหวังจะมีอยู่น้อยนิดก็ตาม

สิ่งที่น่าประทับใจอีกอย่างคือ ความมีน้ำใจที่ชาวญี่ปุ่นในพื้นที่ต่างๆ มอบให้แก่เพื่อนร่วมชาติที่ประสบภัย โดยผลสำรวจสำรวจล่าสุดของเอ็นเอชเคระบุว่า ชาวญี่ปุ่นมากถึง 57% ยอมให้มีการแบ่งซากปรักหักพังจากภัยพิบัติเมื่อปีที่แล้วมาทิ้งในจังหวัดของตน มีเพียง 7% ที่ไม่ยอม และอีก 32% ยังไม่ได้ตัดสินใจ

เกมการเมืองทำพิษ ฟื้นฟูประเทศไม่คืบหน้า

แรงกายและแรงใจของประชาชนอย่างเดียวคงไม่สามารถฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับมามีชีวิตชีวาดังเดิมได้ การสนับสนุนจากภาครัฐเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีโยชิฮิโกะ โนดะ ประกาศว่า ญี่ปุ่นตั้งเป้าระดับชาติในการแก้ไขปัญหาอันเกิดจากภัยพิบัติ ได้แก่ การบูรณะพื้นที่ประสบภัย การปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ไดอิจิอย่างสมบูรณ์ การขจัดกัมมันรังสีปนเปื้อนในพื้นที่ประสบภัย และการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ

ฟังดูเป็นเป้าหมายที่สวยหรู แต่ในความเป็นจริงแล้ว การฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายแทบไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากแผนการฟื้นฟูและการขอรับความช่วยเหลือต่างๆ ต้องผ่านการรับรองจากสภา นั่นหมายความว่าต้องผ่านระบบราชการที่เชื่องช้า และเมื่อไปถึงสภาก็อาจไม่ได้รับการอนุมัติ เนื่องจากรัฐบาลโดยการนำของนายโนดะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภา เวลาเสนออะไรไปก็มักไม่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายตรงข้าม เป็นเกมการเมืองที่นักการเมืองเล่นกันอย่างสนุกสนานโดยไม่คำนึงถึงใจของประชาชน นอกจากนั้นแล้ว รัฐบาลกลางและหน่วยงานรัฐในท้องถิ่นยังมีแนวทางในการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน ทำให้ไม่สามารถกำหนดแผนที่เป็นเอกภาพซึ่งนำไปสู่การฟื้นฟูประเทศอย่างเป็นรูปธรรมได้

หลายคนคงเคยเห็นภาพ “ก่อนและหลัง" ฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติที่เผยแพร่ตามอินเทอร์เน็ต ภาพ “ก่อน" ที่มีแต่เศษซากความเสียหายรุนแรง และภาพ “หลัง" ที่พื้นที่เดียวกันกลับมาสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อยอีกครั้ง และคงอดทึ่งไม่ได้กับการฟื้นตัวที่รวดเร็วราวปฏิหาริย์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว นั่นเป็นเพียงเศษเสี้ยวเดียวเท่านั้น เพราะทางการญี่ปุ่นยอมรับว่า สามารถกำจัดซากปรักหักพังจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิได้เพียง 5 % ของทั้งหมดเท่านั้น และยังคงมีซากปรักหักพังคิดเป็นน้ำหนักราว 23 ล้านตันในจังหวัดอิวาเตะ มิยากิ และฟูกุชิมะ ซึ่งเวลา 1 ปี กับความคืบหน้าเพียง 5% แสดงให้เห็นชัดเจนถึงความล้มเหลวของภาครัฐในการฟื้นฟูประเทศ

วิกฤตนิวเคลียร์ญี่ปุ่น บทเรียนที่โลกไม่จำ

เกือบ 1 ใน 3 ของพลังงานที่ใช้ในญี่ปุ่นมาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง แต่ 1 ปีหลังเกิดเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟูกุชิมะ ไดอิจิ เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 52 เครื่องจากทั้งหมด 54 เครื่องในประเทศญี่ปุ่นยังถูกปิดตาย เหลือเพียง 2 เครื่องที่ยังใช้ผลิตไฟฟ้า แต่ทั้ง 2 เครื่องก็ใกล้ครบกำหนดปิดซ่อมบำรุงแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นจึงมีแผนเปิดใช้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพิ่มเติมบางแห่ง อย่างไรก็ดี ผลสำรวจล่าสุดของอาซาฮี ชิมบุน ระบุว่า ชาวญี่ปุ่น 57% ไม่ต้องการให้รัฐบาลเปิดใช้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อีก แสดงให้เห็นว่าชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยอมลำบากเพราะขาดแคลนไฟฟ้า แต่ไม่ยอมเผชิญกับวิกฤตนิวเคลียร์อีกแล้ว

ความหวาดกลัวนิวเคลียร์ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่แพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลก โดยประชาชนในเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง ออสเตรเลีย เบลเยียม และอีกหลายประเทศ ได้ออกมาชุมนุมต่อต้านนิวเคลียร์ในวันครอบรอบ 1 ปีภัยพิบัติที่ญี่ปุ่น เพราะกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย ขณะเดียวกันวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทำให้หลายประเทศต้องทบทวนแผนพลังงานของตนเอง อย่างในประเทศจีนนั้น นายซิ่ว หยูเซิง รองประธานสภานิติบัญญัติและประธานกิตติมศักดิ์ของสถาบันวิจัยพลังงานไฟฟ้าแห่งชาติ กล่าวว่า จีนต้องประเมินความเสี่ยงอย่างเต็มรูปแบบและมีระบบตรวจสอบที่ชัดเจน หากจะอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เนื่องจากโลกเคยได้รับบทเรียนจากวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟูกุชิมะแล้ว

อย่างไรก็ดี คงเข้าทำนองว่า “ไม่เจอกับตัว ไม่รู้สึก" เพราะหลายประเทศเลือกที่จะทบทวนแผนการใช้พลังงานนิวเคลียร์ให้มีความรอบคอบมากขึ้นเท่านั้น แต่ไม่คิดที่จะเลิกใช้ ซึ่งประเทศเหล่านี้ประกอบด้วยฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีอีกหลายประเทศที่กำลังพยายามสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งแรก อาทิ เวียดนาม บังกลาเทศ ตุรกี เป็นต้น มีเพียงเยอรมนีเท่านั้นที่ประกาศแผนปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดของประเทศภายในปี 2565 ส่งผลให้เยอรมนีเป็นประเทศอุตสาหกรรมประเทศแรกที่จะยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างถาวร

คณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยแผ่นดินไหวแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว เปิดเผยว่า อาจมีโอกาสสูงถึง 70% ที่เขตคันโตทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่นซึ่งรวมถึงโตเกียว จะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ภายใน 4 ปี อันเป็นผลมาจากการเกิดแผ่นดินไหวความรุนแรง 9.0 ทางตอนเหนือของประเทศเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐกล่าวว่า ภัยพิบัติในญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้วสร้างความสูญเสียอย่างมหาศาลเพราะญี่ปุ่นประเมินสถานการณ์ต่ำเกินไป โดยญี่ปุ่นเตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหวความรุนแรงไม่เกินระดับ 8.0 เท่านั้น นอกจากนั้นยังประเมินความสูงของคลื่นยักษ์สึนามิต่ำเกินไปถึง 10 เท่า ดังนั้นจากนี้ไป ญี่ปุ่นต้องเตรียมพร้อมให้มากกว่านี้ ทั้งความพร้อมของอาคารในการรับแรงสั่นสะเทือน โดยเฉพาะในสถานที่ที่อันตรายอย่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และความพร้อมของประชาชนในการอพยพทันที ซึ่งหากทำได้แล้ว ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจะไม่มากมายเท่าปีที่แล้วอย่างแน่นอน ขณะเดียวกันประเทศอื่นๆทั่วโลกก็ควรเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่น และเตรียมพร้อมรับมือด้วยความไม่ประมาทเช่นเดียวกัน

แต่ทางที่ดีที่สุด หวังว่าเหตุธรรมชาติวิปโยครุนแรงเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก...


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ