กฟผ.ปรับแผนการระบายน้ำเขื่อนภูมิพล-เขื่อนสิริกิติ์ ลดความเสี่ยงภัยแล้ง

ข่าวทั่วไป Thursday March 15, 2012 17:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวถึง ผลการประชุมของคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำที่มีกรมชลประทานเป็นประธานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ที่ประชุมปรับแผนการระบายน้ำ 6 เขื่อนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล, เขื่อนสิริกิติ์, เขื่อนแควน้อย, เขื่อนกิ่วลม, เขื่อนกิ่วคอหมา และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำในปีหน้า ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตรที่ว่าสภาพอากาศจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติในเดือนเม.ย. และสภาพอากาศในช่วงฤดูฝนจะอยู่ในภาวะปกติ จึงมีโอกาสที่จะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในกลางเดือนมิ.ย.-กลางเดือนก.ค.ได้

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้กำหนดเป้าหมายการระบายน้ำให้มีความยืดหยุ่น โดยปรับเปลี่ยนการระบายน้ำให้เหมาะสมกับสภาพฝนและปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนจริง โดยใช้หลักความสมดุลของการเก็บกักน้ำไว้ใช้ด้านการเกษตร และการสำรองช่องว่างในอ่างฯ เพื่อการบรรเทาอุทกภัย โดยคณะอนุกรรมการฯ จะมีการทบทวนแผนการระบายน้ำทุกสัปดาห์

สำหรับเขื่อนภูมิพลในปัจจุบัน(14 มี.ค.55 เวลา 24.00 น.) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 8,501 ล้าน ลบ.ม. หรือ ร้อยละ 63 ระบายน้ำในช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.54 ถึงปัจจุบัน(14 มี.ค.55) ไปแล้ว 6,070 ล้าน ลบ.ม.เนื่องจากปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนในช่วงเดือนมีนาคมนี้ลดลงมาก จึงได้ปรับลดการระบายน้ำลงวันละ 2 ล้าน ลบ.ม. จากที่เคยระบายน้ำวันละ 60 ล้าน ลบ.ม.มากว่า 1 เดือน เริ่มปรับลดลงเหลือ 58 ล้าน ลบ.ม. ในวันที่ 13 มี.ค. และ 56 ล้าน ลบ.ม. ในวันที่ 14 มี.ค.

โดยเป้าหมายจะทยอยลดการระบายน้ำลงวันละ 2-4 ล้าน ลบ.ม. จนเหลือปริมาณน้ำระบายวันละ 42 ล้าน ลบ.ม. ในวันที่ 18 มี.ค. และจะคงการระบายน้ำในอัตรานี้จนกว่าคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำจะมีการพิจารณาความเหมาะสมใหม่ต่อไป

เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 5,930 ล้าน ลบ.ม. หรือ 62% ระบายน้ำในช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.54 ถึงปัจจุบัน (14 มี.ค.55) ไปแล้ว 4,365 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสิริกิติ์มีแนวโน้มลดลงเช่นเดียวกัน จึงจะปรับลดการระบายน้ำลงวันละ 3-4 ล้าน ลบ.ม. จากเดิมที่ระบายวันละ 40 ล้าน ลบ.ม. ได้ปรับลดเป็น 37 ล้าน ลบ.ม. ในวันที่ 14 มี.ค. และจะทยอยปรับลดการระบายน้ำลงจนเหลือวันละ 22 ล้าน ลบ.ม. ในวันที่ 18 มี.ค. และจะคงการระบายน้ำในอัตรานี้ต่อเนื่องไปจนกว่าคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำจะมีการพิจารณาความเหมาะสมใหม่ต่อไปเช่นเดียวกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ